เกษตรฯเปิดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” เสริมทัพความแข็งแกร่ง ลุยตรวจป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย เตรียมหารือหลายหน่วยงาน คุมเข้มตรวจสอบห้องเย็น ก่อนปล่อยขายสู่ท้องตลาด
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการเปิดพิธี เพื่อประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยมอบธงและปล่อยขบวนชุดปฏิบัติการพิเศษ 4 ชุด ได้แก่ ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจพญานาคราช (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ฉลามขาว (กรมประมง) พญาไท (กรมปศุสัตว์) สารวัตรเกษตร (กรมวิชาการเกษตร)
สำหรับปฏิบัติการในชุดดังกล่าว เป็นการป้องกันและปราบปราม การลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยชุดปฏิบัติการพญานาคราช จะดำเนินการเร่งรัด ตรวจสอบ และจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย และจะรายงานผลการทำงานให้รัฐมนตรีทุก 15 วัน
สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่จะมีการใช้เครื่องเอกซเรย์ เพื่อดำเนินการตรวจสอบว่าสินค้าดังกล่าวตรงกับที่สำแดงหรือไม่ รวมทั้งจะมีการติดตามสินค้าว่าส่งปลายทางตามที่สำแดงจริงหรือไม่ เพื่อเป็นการยกระดับในการป้องกันการลักลอบนำสินค้าเกษตรเข้าอย่างผิดกฎหมาย
สำหรับในปี 2565 ประเทศไทยมีผลผลิตประมงที่ได้จากการจับจากธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยงทั้งหมด 2.39 ล้านตัน และมีการนำเข้าสินค้าประมงปริมาณ 2.19 ล้านตัน มูลค่า 158,431 ล้านบาท โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณ 808,539 ตัน ทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง 727,709 ตัน หมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง 182,049 ตัน เพื่อบริโภคภายในประเทศและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ
โดยมีปริมาณการส่งออกสินค้าประมงรวม 1.60 ล้านตัน มูลค่า 229,123 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง 76,633 ล้านบาท กุ้งและผลิตภัณฑ์ 52,623 ล้านบาท อาหารแมวและสุนัขกระป๋อง 18,063 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการสุ่มเปิดตรวจสินค้า พบการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 6 คดีในปี 2565 และพบการกระทำผิด 9 คดี ในปี 2566 โดยส่วนใหญ่เป็นคดีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
หลังจากนี้ จะมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ โดยเฉพาะสถานประกอบ จะมีการตรวจสอบคัดแยกชนิดและปริมาณที่นำเข้าจริงตรงตามที่สำแดงในเอกสารจนมั่นใจว่าสัตว์น้ำนั้นเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต จึงจะอนุญาตให้เข้าสู่กระบวนการผลิตหรือจำหน่ายต่อไป