นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนงานขององค์การสะพานปลา (อสป.) โดยมี นายสมบัติ อำนาคะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ตลอดจนนายปรีดา ยังสุขสถาพร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลากร องค์การสะพานปลา ให้การต้อนรับ และหัวหน้าสำนักงานในส่วนภูมิภาค เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ ณ สะพานปลากรุงเทพ องค์การสะพานปลา แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ ว่า ภายใต้นโยบายด้านการประมงของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ที่มีนโยบายพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ ด้วยการแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้ให้เหมาะสม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทางทะเลอย่างยั่งยืน การพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศและประชาชน เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทางทะเล ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชากรของประเทศไทยและประชากรโลก เป้าหมายเพื่อให้พี่น้องชาวประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการด้านการประมง สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน และการทำการประมง ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ส่งเสริมการผลิตและการตลาดอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการเสริมสร้างยกระดับการพัฒนาประมงไทยอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
“องค์การสะพานปลา หรือ อสป. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อจัดระเบียบกิจการแพปลา และมีพระราชบัญญัติเพื่อควบคุมการดำเนินงานเป็นการเฉพาะ มีบทบาทที่มีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย”
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายเชิงรุกของ อสป. คือ “โครงการจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำและสัตว์น้ำแปรรูป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน) ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจประมงมีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างรายได้ต่ออาชีพประมงและธุรกิจต่อเนื่อง รวมทั้ง “โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านและศูนย์จำหน่ายสินค้าประมงพื้นบ้าน (อัตลักษณ์พื้นถิ่น) ยกระดับชาวประมงพื้นบ้าน ฐานแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการบริหารจัดการฐานทรัพยากรทางเกษตรและระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการขยายตลาดการบริโภคสินค้าเกษตรและการผลิตอาหารปลอดภัย พัฒนาการเกษตรคุณภาพให้มีมูลค่าสูง สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนทางการเงิน ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวประมง
“อสป. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนด้านประมงของประเทศไทยและมีส่วนเกี่ยวข้องกับพี่น้องชาวประมงเนื่องจากเป็นตลาดกลางซื้อขายและขนถ่ายสินค้าประมง อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา อสป. ประสบกับวิกฤติปัญหาทั้งเศรษฐกิจชะลอจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับปัญหาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้ต้องปรับโครงสร้างการทำงานหลังจากที่ขาดทุนมาหลายปี ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชม อสป. ที่สามารถฝ่าฟันวิกฤติทำกำไรกลับคืนมาได้ เชื่อมั่นว่า อสป. มีศักยภาพ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้าประมงในตลาดโลก ทั้งนี้ การทำงานจะต้องปรับตัวให้ทันตามเทรนด์ของโลกยุคดิจิทัล หลังจากนี้ จะลงพื้นที่สำรวจว่าสามารถขยาย ฟื้นฟูสะพานปลาให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ได้อย่างไร เพื่อสร้างองค์กรให้เข้มแข็งยั่งยืนและสร้างประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน ตลอดจนเป็นการบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าสูงสุด เพื่อยกระดับตลาดสินค้าสัตว์น้ำจากชาวประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้มีมาตรฐานสากล ทั้งคุณภาพและราคา ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน” รมช.อนุชา กล่าว
นอกจากนี้ ในด้านการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาการประมง อสป. ได้มีการขยายบทบาทการดำเนินงาน ทั้งการให้สินเชื่อเพื่อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์การประมง และให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันประมง ชุมชนประมง เพื่อส่งเสริมฐานะและสวัสดิการของชาวประมง เป็นต้น การดำเนินงานที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐ เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพประมง ได้แก่ โครงการลดราคาน้ำมันเพื่อช่วยเหลือชาวประมง (น้ำมันม่วง) โครงการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูปให้กับกระทรวงยุติธรรม (กรมราชทัณฑ์) และปัจจุบันยังคงดำเนินงานโครงการจัดซื้อสินค้าสัตว์น้ำส่งสำนักพระราชวัง สวนจิตรลดา และการจัดให้มีจุดตรวจสอบควบคุมคุณภาพสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันการใช้สารปนเปื้อนต่าง ๆ ในสินค้าสัตว์น้ำ รวมถึงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลาให้ได้มาตรฐานสากล ช่วยให้ผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าสัตว์น้ำที่สด สะอาด รวมถึงการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปจำหน่ายในตลาดโลกให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
ข้อมูลจาก อสป. รายงานสถิติปริมาณสัตว์น้ำ ปี 2565 มีมูลค่า 10,082 ล้านบาท ปริมาณ 210,082 ตัน กำไร 24% ค่าใช้จ่าย 220 ล้านบาท รายได้ 244 ล้านบาท สถิติปริมาณสัตว์น้ำปี 2566 มีมูลค่า 7,876 ล้านบาท ปริมาณ 182,500 ตัน กำไร 43.11% ค่าใช้จ่าย 209.17 ล้านบาท รายได้ 252.28 ล้านบาท
สำหรับแผนงานโครงการที่จะดำเนินงานในปี 2567 ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงให้ถูกสุขอนามัยได้รับมาตรฐานสากล 1) โครงการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคบ่อบำบัดน้ำเสียของอาคารสำนักงานสะพานปลากรุงเทพ 2) โครงการซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมง ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างศักยภาพการจัดหารายได้และขยายช่องทางในธุรกิจ 1) โครงการจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การพัฒนาพื้นที่สะพานปลากรุงเทพ 2) โครงการตลาดเช้าจำหน่ายสัตว์น้ำท่าเทียบเรือประมงปัตตานี ระยะที่ 2 3) โครงการพัฒนาพื้นที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการขององค์การสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต 4) โครงการศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าสัตว์น้ำด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ 5) แผนการหารายได้ของสำนักงานบริหารการตลาดและกิจกรรมสังคม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับชาวประมงและผู้ประกอบการให้มีความมั่นคงทางอาชีพประมง 1) โครงการสำรวจความพึงพอใจและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า 2) โครงการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านและศูนย์จำหน่ายสินค้าประมงพื้นบ้าน 3) โครงการ FMO : BCG (กำจัดขยะ แหอวน พลาสติก และกล่องโฟม เพิ่มคุณค่าให้ทะเล สร้างมูลค่าแก่ชาวประมง) 4) โครงการสินเชื่อเครื่องมืออุปกรณ์ทำประมงและซ่อมแซมเรือประมง 5) โครงการตลาดประมงคุณธรรม สร้างคุณค่าที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์ 4 การปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการสู่องค์กรที่ทันสมัย 1) โครงการพัฒนาระบบบริการทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการในอนาคต ได้แก่ 1. โครงการจำหน่ายน้ำมันราคาถูกสำหรับชาวประมง เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวประมง 2. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือประมงปัตตานีเป็นศูนย์อาหารทะเลฮาลาล
ทั้งนี้ อสป. จัดตั้งภายใต้พระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ. 2496 เพื่อจัดระเบียบการประกอบกิจการค้าสัตว์น้ำในเขตกรุงเทพมหานคร และได้มีการขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยการก่อสร้างท่าเทียบเรือประมงตามชายฝั่งทะเลภาคใต้และภาคตะวันออก รวมถึงการจัดให้มีตลาดกลางซื้อขายสัตว์น้ำหรือสะพานปลา ศูนย์จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำที่สำคัญ ปัจจุบัน อสป. เปิดให้บริการสะพานปลารวม 4 แห่ง และท่าเทียบเรือประมงอีก 14 แห่ง รวม 18 แห่ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน มีวิสัยทัศน์ “องค์การสะพานปลา เป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการแหล่งขนถ่ายและซื้อขายสัตว์น้ำที่ถูกสุขอนามัย และได้มาตรฐานสากล เพื่อความมั่นคงทางอาชีพประมง” สำหรับผลงานโดดเด่น สะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงของ อสป. ได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานสุขอนามัยของตลาดกลางซื้อขายสัตว์น้ำ จากกรมประมง ทั้ง 14 แห่ง อีกทั้ง อสป. ปลาได้รับผลคะแนนการประเมิน ITA ประจำปี 2566 เป็นอันดับ 1 ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 97.24 คะแนน