จากกรณีเพจ พระไพศาล วิสาโล ประธานกรรมการมูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ ได้โพสต์ไว้อาลัย ร.ต.ต.วิชัย สุริยุทธ ขอไว้อาลัยแด่ “พ่อดาบวิชัย” ร้อยตำรวจตรี วิชัย สุริยุทธ
“คนบ้าปลูกต้นไม้” ที่พวกเรารู้จักกันดี ตลอดชีวิตของท่าน ได้ปลูกต้นไม้ มากกว่าสามล้านต้น และเป็นแรงบันดาลใจให้ “คนบ้าปลูกต้นไม้” รุ่นต่อ ๆ มา แม้จนวินาทีสุดท้าย…
พ่อให้บอกทุกคนว่า
“อย่าเซ่า ชีวิตมีอิหยังให้เฮ็ดอีกหลาย”
คุณกฤษฎาวัลย์ (พี่อ้อ) ลูกสาวของพ่อดาบ กล่าวถึง ข้อความที่ พ่อดาบวิชัย ฝากไว้ในช่วงท้ายของชีวิต ก่อนจากไปอย่างสงบ เมื่อคืนวานนี้ (๒๕ พย ๒๕๖๖) ในวัย ๗๗ ปี
“หวังว่าท่านจากไปอย่างสงบ และไปสู่สุคติ สวรรค์ชั้นฟ้าที่ท่านสถิตเชื่อว่าจะมีต้นไม้อุดมร่มรื่น”
คำไว้อาลัย โดย พระไพศาล วิสาโล
ประธานกรรมการมูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ (มตธ.)
๒๖ พ.ย.๖๖
สำหรับประวัติของร้อยตำรวจตรี วิชัย สุริยุทธ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ดาบวิชัย’ เป็นที่รู้จักกันในสังคมไทย จากการเป็นผู้ปลูกต้นไม้มากกว่าสองล้านต้นในอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จนสามารถทำให้อำเภอปรางค์กู่ อำเภอที่เคยจัดว่าแห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์
วิชัย สุริยุทธ เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2489 ที่อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนทั้งหมด 6 คน บิดามารดามีอาชีพชาวนา ฐานะทางบ้านจึงยากจน ขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มารดาก็เสียชีวิต บิดาเขาจึงต้องทำนาคนเดียว และเขาจึงต้องรับจ้างทำงานสารพัด ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรก่อสร้าง, จับกัง กระทั่งได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย
หลังจบโรงเรียนพลตำรวจ 3 จังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2511 ก็ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ ประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษ ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ย้ายไปประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอปรางค์กู่
กระทั่งในปี พ.ศ. 2548 ดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ ได้รับพระราชทานยศเป็นกรณีพิเศษ เป็น “ร้อยตำรวจตรี” จากการอุทิศตนต่อประเทศชาติ จนเกษียณอายุราชการ ในปี พ.ศ. 2549 ขณะดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอปรางค์กู่
พ.ศ.2530 จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย อำเภอปรางค์กู่เป็นอำเภอที่ยากจนที่สุดในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย มีการปล้นชิงลักขโมยเป็นคดีความมากมาย ดาบวิชัยในฐานะผู้เติบโตมาในพื้นที่และเจ้าพนักงานสอบสวนรับรู้ถึงปัญหามาตลอด จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ให้ดีขึ้น จากความคิดของเขา ทำให้เขาตัดสินใจปลูกต้นไม้ เนื่องจากเห็นว่าจะผลที่จะตามมาจะเป็นผลที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์ไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน
โดยนับจากปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา ทุกเช้าและหลังเลิกงานของวัน ดาบวิชัย จะขับจักรยานยนต์ ตระเวนปลูกต้นไม้ไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในอำเภอปรางค์กู่ โดยในระยะแรก ในสายตาชาวบ้าน เขาถูกมองว่าเป็นคนบ้า แม้ว่าจะถูกสังคมมองไปในทางเช่นนั้น เขาก็ยังคงปลูกต้นไม้อยู่เรื่อยไป
พ.ศ. 2541 เป็นต้นมาสังคมเริ่มเห็นผลจากการปลูกต้นไม้ของเขา เกิดโครงการปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะเพื่อส่วนรวมเกิดขึ้น ได้แก่ รณรงค์ปลูกต้นยางนา เพื่อเอาไว้สร้างบ้านเรือน รณรงค์ปลูกต้นตาล ซึ่งเป็นพืชสารพัดประโยชน์ รณรงค์ปลูกต้นคูน ต้นไม้ประจำภาคอีสานและประจำชาติไทย และรณรงค์ให้เปลี่ยนการทำนาปีเป็นไร่นาสวนผสม จนอำเภอปรางค์กู่กลายเป็นอำเภอที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งต้นไม้ที่เขาปลูกนั้นสามารถสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในอำเภอได้
พ.ศ. 2543 ประชาคมอำเภอปรางค์กู่ทั้ง 10 ตำบล ได้พร้อมใจกันลงมติให้ใช้ 4 โครงการรณรงค์ดังกล่าวเป็นคำขวัญของ อำเภอปรางค์กู่ ที่ว่า “ปรางค์กู่อยู่ในป่ายางกลางดงตาล บานสะพรั่งดอกคูน บริบูรณ์ไร่นาสวนผสม”