กรมส่งเสริมการเกษตร ขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ โดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area – based) พร้อมวิเคราะห์พื้นที่ – คน – สินค้า และใช้กระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลัก BCG Model พร้อมพัฒนาต่อยอดจากฐานการพัฒนาที่มีอยู่แล้ว สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร โดยคัดเลือกพืชในพื้นที่ดำเนินการพัฒนาสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อยกระดับเกษตรกร
นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ภายใต้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ภาคใต้ “1 จังหวัด 1 ชนิดสินค้า” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ได้คัดเลือกพืชในพื้นที่มาดำเนินการพัฒนาสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อยกระดับเกษตรกร บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่และนำกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตาม BCG Model มาร่วมดำเนินการด้วย จะเห็นได้ว่ามีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกันทั้งกระบวนการขับเคลื่อน และเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้แก่เกษตรกรและชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างสมดุลและยั่งยืนโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ร่วมนำเสนอผลสำเร็จของการดำเนินงานในปี 2566 ดังนี้
1.จังหวัดตรัง : พริกไทยตรัง พริกไทยคุณภาพ พัฒนาให้จังหวัดตรังเป็นแหล่งผลิตพริกไทยอินทรีย์หลักของประเทศไทย
2.จังหวัดพัทลุง : สละ BCG MODEL สามารถลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตได้รับมาตรฐาน GAP และมูลค่าสินค้าสละเพิ่มขึ้น พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสละ มีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ร้อยละ 50
3.จังหวัดยะลา : ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา สู่มาตรฐานโลก มุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรกร โดยใช้กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร เพื่อรวมกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน และบริหารจัดการสวนภายใต้มาตรฐาน GAP
4.จังหวัดสตูล : “กาแฟสตูล คุณภาพมูลค่าสูง” มุ่งพัฒนาความรู้ด้านการจัดการสวนกาแฟและการแปรรูปขั้นต้น สามารถถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรข้างเคียงได้ แปลงกาแฟมีความพร้อมและสามารถขอรับรองตามมาตรฐาน GAP
5.จังหวัดสงขลา : กาแฟโรบัสต้า BCG MODEL สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และเพิ่มพื้นที่ปลูก เกิดการรวมกลุ่มและเครือข่ายการปลูกกาแฟ เกิดศูนย์เรียนรู้และเป็นแหล่งศึกษาดูงาน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
6.จังหวัดปัตตานี : การพัฒนาเครือข่ายธุรกิจคลัสเตอร์ผักมูลค่าสูงด้วย BCG MODEL ปรับแนวทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้แก่เกษตรกรโดยการวางแผนการจัดการด้านการผลิตการตลาดและเกิดจุดเรียนรู้ต้นแบบในพื้นที่และขยายผลสู่พื้นที่อื่น
7.จังหวัดนราธิวาส : “ทุเรียนบางนรามูลค่าสูงภายใต้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่” เน้นการผลิตสินค้าพรีเมี่ยมและมีการแปรรูปในขั้นต้นและขั้นกลาง เพื่อสร้างแบรนด์สร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคภายใต้มาตรฐานสากล
8.จังหวัดชุมพร : การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่จังหวัดชุมพรสู่“ชุมพรมหานคร โรบัสต้า” จัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกาแฟโรบัสต้าชุมพร เพิ่มมูลค่าสารกาแฟ พัฒนาคุณภาพสู่มาตรฐาน GAP ตลอดจนการจัดตั้งบอร์ดกาแฟชุมพร
9.จังหวัดระนอง : พัฒนาคุณภาพทุเรียน “ฝนแปด แดดสี่ทุเรียนดีมีคุณภาพด้วย BCG MODEL” จังหวัดระนอง พัฒนาคุณภาพทุเรียนอัตลักษณ์จังหวัดระนอง ภายใต้สัญลักษณ์ GI และพัฒนาคุณภาพทุเรียนแบบยั่งยืน เน้นการจัดการสวนด้วยชีววิธี
10.จังหวัดสุราษฎร์ธานี :การขับเคลื่อนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานีสู่ต้นแบบเมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืน ยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันให้เป็นเกษตรกรผู้ปลูกตามน้ำมันแบบยั่งยืนผ่านมาตรฐาน RSPO
11.จังหวัดพังงา : มังคุดทิพย์พังงาสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้วย BCG การสร้างมูลค่าจากวัสดุเศษเหลือในการแปรรูปมังคุด เช่น ถ่านจากเปลือกมังคุด การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมังคุด สร้างมูลค่าเพิ่มโดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
12.จังหวัดกระบี่ : การขับเคลื่อนการผลิตทุเรียนทะเลหอย ทุเรียนทะเลหอยของจังหวัดกระบี่ ได้รับการรับรองเป็นสินค้า GI กระบวนการผลิตได้รับการรับรองคุณภาพภายใต้มาตรฐาน GAP และสามารถนำผลผลิตเข้าสู่กระบวนการแปรรูปขั้นสูง เช่น ทุเรียนฟรีซดราย
13.จังหวัดภูเก็ต : สินค้าเกษตรมูลค่าสูงสับปะรดภูเก็ตด้วย BCG MODEL มีการจัดการวัสดุเศษเหลือจากกระบวนการผลิต มีการส่งเสริมความรู้ในการแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้นและขั้นกลาง เช่น น้ำพริกสับปะรด สบู่สับปะรด และส่งเสริมการพัฒนาด้านการตลาด โดยการเพิ่มช่องทางการตลาด ร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อการแปรรูปขั้นสูงเชิงพาณิชย์ เช่น เวชสำอางจากสับปะรดและโลชั่นสับปะรด
14.จังหวัดนครศรีธรรมราช : การขับเคลื่อนสินค้าเกษตรมูลค่าสูง (มังคุด)ด้วย BCG MODEL ยกระดับกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจเริ่มต้น (Start up) มีการทำการตลาดเพื่อการประมูลเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ผลิตมังคุดคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเศษเหลือ เช่น การทำสารไล่แมลง ปุ๋ยหมัก การนำเปลือกมังคุดมาทำเป็นกล่องหรือภาชนะ และการส่งเสริมการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เป็นแนวทางที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการเพื่อต่อยอดการส่งเสริมการเกษตร โดยที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรทั้งในลักษณะรายบุคคล (Individual Approach) การส่งเสริมในรูปแบบกลุ่ม (Group Approach) รวมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต (Commodity Approach) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรให้เกิดผลสำเร็จ