แปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ ต้นแบบชุมชน Zero Waste ของกรมส่งเสริมการเกษตร ทำกำไรจากวัสดุมะพร้าว เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชนอย่างยั่งยืน

%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1 10 scaled
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดขึ้นจากการส่งเสริมของสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ในปี 2562 เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ตำบลบางใบไม้ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีพืชหลักคือมะพร้าวที่ปลูกมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เกษตรกรมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยขาดการดูแลบำรุงรักษา ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ราคาตกต่ำ จึงเกิดการรวมตัวจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ขึ้น โดยการจำหน่ายผลผลิตมะพร้าวของเกษตรกร ส่วนใหญ่นิยมจำหน่ายมะพร้าวทั้งผล และบางส่วนนำไปแปรรูป จนกระทั่งในปี 2564 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด มีการจัดสร้างโรงเรือน และจัดซื้อเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์สำหรับผลิตขุยและใยมะพร้าว นำไปสู่การใช้นวัตกรรมพัฒนาผลิตสินค้าใหม่ ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กาบมะพร้าวซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการแปรรูปมะพร้าว

           

%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7 scaled
แปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ ต้นแบบชุมชน Zero Waste

“หลังจากเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด กลุ่มสามารถจำหน่ายมะพร้าวผลได้ในราคาผลละ 14 – 15 บาท และจำหน่ายในรูปแบบมะพร้าวปอกหยอย ราคาผลละ 25 – 30 บาท ส่วนกาบมะพร้าวนำไปผ่านกระบวนการแยกขุยแยกใย จะสามารถผลิตเป็นใยมะพร้าวที่มีราคาตันละ 12,000 บาท และขุยมะพร้าว ราคาตันละ 1,000 บาท สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว  

%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88 2 scaled
แปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ ต้นแบบชุมชน Zero Waste

ปัจจุบันแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ชื่อ บริษัทมะพร้าวแปลงใหญ่บางใบไม้ จำกัด ซึ่งมีนายสรพงศ์ จันทร์เหล็ก เป็นประธานแปลงใหญ่ มีสมาชิก จำนวน 33 ราย พื้นที่ปลูกมะพร้าวรวม 309 ไร่ สามารถรวบรวมกาบมะพร้าวของสมาชิกได้ 5 ตันต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีกาบมะพร้าวของเกษตรรายย่อยอื่น ๆ ในพื้นที่อีกประมาณ 100 ตันต่อเดือน มีการรวบรวมผลผลิตจำหน่ายให้แก่ล้งมะพร้าว โดยล้งมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการซื้อขายผลผลิตมะพร้าวกับสหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี มีการใช้หลักตลาดนำการผลิตวางแผนขยายการผลิตสินค้าแบบใหม่ตามความต้องการของตลาด ซึ่งสินค้าที่ผลิตมาจากกาบมะพร้าวมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มี Brand ให้สามารถเข้าสู่ตลาด Online และ Offline ที่กว้างขวางได้ยิ่งขึ้น

%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88 9 scaled
แปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ ต้นแบบชุมชน Zero Waste

นอกจากนี้ ยังนำหลักการ BCG Model มาเพิ่มมูลค่า ไม่ว่าจะเป็น การนำขุยมะพร้าวไปทำดินและปุ๋ยหมักบรรจุใส่ถุงในนามกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง ส่วนเส้นใยมะพร้าวนำไปขึ้นรูปอัดเป็นกระถางต้นไม้ และถาดเพาะจำหน่ายทั้งปลีกและส่งเช่นกัน และเมื่อกลุ่มมีเงินทุนหลังจากปันผลแล้วเงินก้อนหนึ่งจะนำมาให้สมาชิกในกลุ่มกู้ยืม เพื่อนำไปลงทุนในการปรับปรุงสวนมะพร้าว บำรุงดูแลรักษา เพิ่มผลผลิต เพื่อความเป็นอยู่ของสมาชิกกลุ่มที่ดีขึ้น และกระบวนการดังกล่าวนี้ยังเป็นการช่วยลดปัญหาขยะที่เคยเกิดขึ้นในชุมชน โดยการนำเศษวัสดุมาแปรรูปจนหมด (Zero Waste) ไม่เหลือขยะทิ้งเช่นในอดีต

IMG 3200 scaled
แปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ ต้นแบบชุมชน Zero Waste

           

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง สุราษฎร์ธานี ยังได้สนับสนุนให้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น การทำไวน์ น้ำส้มสายชู และวุ้นจากน้ำมะพร้าว  ส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งในสวนมะพร้าว เพื่อช่วยในการผสมเกสร และสร้างอาชีพเสริมในสวนมะพร้าว โดยการสนับสนุนรังผึ้งให้แก่เกษตรกร และการฝึกอบรมการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เป็น สบู่และโลชั่น เพื่อสร้างเป็นอาชีพเสริมให้กลุ่มเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

IMG 3225 scaled
แปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางใบไม้ ต้นแบบชุมชน Zero Waste