กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมนำแนวทางการทำเกษตร BCG Model ของเกษตรแปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง จังหวัดสระบุรี ต่อยอดสู่เกษตรกรกลุ่มอื่น หลังประสบความสำเร็จด้านลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป เพิ่มช่องทางการตลาด และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการทำเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ของเกษตรแปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรีว่า เกษตรแปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง ถือเป็นต้นแบบการทำเกษตรแบบ BCG Model มีการพัฒนาการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพ และเป็นการยกระดับกลุ่มแปลงใหญ่ที่นอกจากการมีการบริหารการจัดการที่โดดเด่นแล้ว การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุลและยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการดำเนินการด้วยหลัก BCG Model ที่เป็นการยกระดับภาคการเกษตร ตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลผลิต การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรม และมีการร่วมบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และเครือข่ายเกษตรกร ในการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนปัจจัยต่างๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายหลักของ BCG Model ทั้ง 3 เป้าหมาย คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง
กรมส่งเสริมการเกษตรได้สนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมของกลุ่มแปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง โดยมีการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรด้วยรูปแบบโมเดล BCG (Bio – Circular – Green Economy) เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการเข้าไปส่งเสริมให้กลุ่มใช้พันธุ์สะอาด และเหมาะสมกับพื้นที่ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การไถระเบิดดินดาน การใช้ระบบน้ำหยด รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ให้เป็น Smart Farmer (SF) Young Smart Famer (YSF) และผู้นำเกษตรกร พัฒนาเครือข่ายผู้ผลิต และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่หรือเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งยังสนับสนุนรถแทรกเตอร์ โดรน เครื่องตัดใบมัน และเครื่องชั่งรถบรรทุก
อีกทั้งยังมีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของมันสำปะหลัง อาทิเช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปหัวมันสดเป็นมันเส้นสะอาด แปรรูปใบและยอดมันสำปะหลังด้วยการหมักเป็นอาหารสัตว์ ด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้จากการผลิต มีการใช้ราก เหง้า ใบ เป็นวัสดุปรับปรุงดิน ส่วนการสร้างมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ มีการใช้ เหง้ามัน ในการผลิตถ่านโดยใช้เตาชีวมวลไร้ควัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดสระบุรี และยังรับซื้อถ่านจากเหง้ามันของกลุ่มอีกด้วย
นอกจากนี้แปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง ยังได้ร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการสนับสนุนสินเชื่อและการวางแผนธุรกิจ รวมทั้งเงินสนับสนุนเงินงบประมาณในการจัดทำระบบน้ำหยดอัจฉริยะ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและสำนักงานพลังงานจังหวัด ในการสนับสนุนระบบโซล่าเซลล์ สำหรับสูบน้ำบาดาลเพื่อเก็บเข้าแท้งค์น้ำ สำหรับรอปล่อยน้ำลงสู่แปลงมันสำปะหลัง ทั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ โดยดำเนินการตามหลัก BCG Model ของแปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง ก่อให้เกิดผลลัพธ์ คือ สามารถลดต้นทุนการผลิตลงร้อยละ 23 จากการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการใช้ระบบน้ำหยด เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากการแปรรูป 16,800 บาทต่อไร่ จากการเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูปมันสำปะหลังเป็นมันเส้น ทำมันหมักจากใบ ยอด หัวมันสด เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ จัดทำเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ และส่งขายให้กับคู่ค้า เช่น สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค (มิตรภาพ) จำกัด วิสาหกิจชุมชนบ้านหนองบอน ลานออเกษตร
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การทำเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ถือเป็นสิ่งสำคัญที่กรมส่งเสริมการเกษตร ให้การสนับสนุนมาตลอด เนื่องจากการทำเกษตรสมัยใหม่ ต้องนำเทคโนโลยีหรือ นวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วยเพื่อลดการใช้แรงงาน และให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ การนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่ หรือแปรรูปวัสดุต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและมีรายได้เพิ่ม และการทำเกษตรสมัยใหม่ ต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จะนำวิธีการบริหารจัดการของเกษตรแปลงใหญ่มันสำปะหลังตำบลวังม่วง ไปต่อยอดและเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มเกษตรอื่น ๆ ต่อไป