“ปลาสวยงามไทย” หนึ่งในสินค้าเกษตรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมประมงดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์ปลาสวยงามให้ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงโดยสร้างสายพันธุ์ที่มีความสวยงามแปลกใหม่ เพื่อผลักดันให้ปลาสวยงามไทยก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับประเทศผู้ส่งออกปลาสวยงามที่สำคัญอันดับต้นๆ ในตลาดโลก พร้อมทั้งกระตุ้นธุรกิจปลาสวยงามควบคู่ไปกับการปลูกสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์สัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จังหวัดราชบุรี…จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำที่สำคัญของประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงานประมงจังหวัดราชบุรี พบว่ามีพื้นที่เพาะเลี้ยงปลาสวยงามรวมกว่า 1,200 ไร่ มีเกษตรกรเพาะเลี้ยงกว่า 200 ฟาร์ม สามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละประมาณ 400 – 600 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เยอรมัน อเมริกา ออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองในการซื้อปัจจัยการผลิตและจำหน่ายผลผลิตด้วยการรวมกันผลิตสัตว์น้ำสวยงามที่ได้มาตรฐาน กรมประมงจึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (สัตว์น้ำสวยงาม) โดยกำหนดแผนในการพัฒนารายแปลงที่สำคัญ 5 ด้านที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) การลดต้นทุนการผลิตด้วยการจัดอบรมให้ความรู้ที่เกี่ยวข้อง 2) การเพิ่มผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด 3)การเพิ่มมูลค่าการผลิตด้วยการพัฒนาช่องทางการตลาด 4) การบริหารจัดการเพื่อยกระดับเข้าสู่มาตรฐาน GAP และ 5) การพัฒนาช่องทางตลาด
สำหรับโครงการฯ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อปี 2565 โดยผลการดำเนินงานพบว่า กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามจังหวัดราชบุรีมีสมาชิกรวม 37 ราย รวมพื้นที่การเลี้ยง 121.83 ไร่ มีการเลี้ยงปลาสวยงามหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ ปลาเงินปลาทอง ปลาคาร์ป ปลาหางนกยูง โดยเกษตรกรได้รับความรู้ในการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในหัวข้อที่สำคัญทั้งด้านการใช้เทคโนโลยีในการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำ โรคสัตว์น้ำสวยงาม การผลิตอาหารลดต้นทุน การสร้างช่องทางการตลาดผ่าน PLATFROM ออนไลน์ เช่น FACEBOOK PAGE INSTAGRAM LINE และ YOUTUBE และนำไปพัฒนาต่อยอดภายในฟาร์มจนเกิดการรวมกลุ่มจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามจังหวัดราชบุรี” และเกษตรกรทุกรายได้ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Aquaculture Practice ; GAP)
“อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรอง ในการซื้อปัจจัยการผลิตและจำหน่ายผลผลิตด้วยการรวมกันผลิตสัตว์น้ำสวยงามที่ได้มาตรฐาน สำหรับโครงการแปลงใหญ่ปลาสวยงามที่ได้ดำเนินการเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วพบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก สามารถผลิตปลาสวยงามเฉลี่ย 3 รุ่นต่อปี ผลผลิตก่อนเข้าร่วมโครงการ 5,782 ตัว/ปี หลังเข้าร่วมโครงการปีที่ 3 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 7,179 ตัว/ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ทางจังหวัดจะเดินหน้าผลิตสัตว์น้ำสวยงามให้แปลกใหม่และเชื่อมโยงตลาดทุกรูปแบบ ตามแนวคิดการตลาดนำการผลิต เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งให้ความสำคัญกับการผลิตที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการใช้การตลาดสมัยใหม่ อันจะเป็นการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเพื่อลดปัญหาสินค้าล้นตลาด ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้ตลาดสัตว์น้ำคึกคักนำมาสู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและผลักดันให้ปลาสวยงามไทยก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับประเทศผู้ส่งออกปลาสวยงามที่สำคัญอันดับต้นๆ ในตลาดโลก พร้อมทั้งกระตุ้นธุรกิจปลาสวยงามควบคู่ไปกับการปลูกสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์สัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติ” รองอธิบดีกรมประมง กล่าว
นายอนันต์ สุนทร ประมงจังหวัดราชบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานประมงจังหวัดราชบุรีมีความพร้อมในการพัฒนาจังหวัดราชบุรีให้เป็นจังหวัดแห่งการพัฒนาปลาสวยงามของไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะด้วยความโดดเด่นที่หลากหลายของสายพันธุ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงให้ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Aquaculture Practice ; GAP) การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเพาะเลี้ยงมีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม เพื่อผลักดันให้เป็นเกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer เกษตรกรดีเด่น ประมงอาสา ฯลฯ
“ตลอดจนการหาช่องทางการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายกับกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมปลาสวยงาม เช่น กลุ่มผู้เพาะลี้ยงมีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงสูง ผู้ส่งออกมีความสามารถในการค้าสูงเพื่อกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ สำหรับโครงการแปลงใหญ่ปลาสวยงามที่ได้ดำเนินการเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วพบว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก สามารถผลิตปลาสวยงามเฉลี่ย 3 รุ่นต่อปี ผลผลิตก่อนเข้าร่วมโครงการ 65,782 ตัว/ปี หลังเข้าร่วมโครงการปีที่ 3 ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 7,179 ตัว/ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ด้านต้นทุนการผลิตก่อนเข้าร่วมโครงการฯ อยู่ที่ 6.27 บาท/ตัว หลังเข้าร่วมโครงการฯ ลดลง 1 บาท/ตัว คิดเป็นร้อยละ 15 สำหรับแผนระยะต่อไป ทางจังหวัดจะเดินหน้าผลิตสัตว์น้ำสวยงามให้แปลกใหม่และเชื่อมโยงตลาดทุกรูปแบบ ตามแนวคิดการตลาดนำการผลิต เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งให้ความสำคัญกับการผลิตที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการใช้การตลาดสมัยใหม่ อันจะเป็นการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเพื่อลดปัญหาสินค้าล้นตลาดตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้ตลาดสัตว์น้ำคึกคักนำมาสู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน “
ด้านนายกำพล สร้อยแสง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดราชบุรี ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ทางกลุ่มฯ รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ เนื่องจากได้รับความรู้ดี ๆ มากมายจากทีมนักวิชาการของกรมประมง ทั้งการลงพื้นที่บรรยายให้ความรู้กับเกษตรกรในด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ การใช้จุลินทรีย์ปม.1 ทั้งรูปแบบผงและแบบน้ำ การผลักดันกลุ่มเกษตรกรให้เข้าสู่การรับรองมาตรฐาน GAP ความรู้เกี่ยวกับโรคสัตว์น้ำ การแนะนำช่องทางการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำเชื่อมโยงตลาดทั้งในและตลาดต่างประเทศ
และที่สำคัญการผลิตอาหารปลาสวยงามเพื่อลดต้นทุน เพราะถือเป็นปัจจัยหลักในการเลี้ยงสัตว์น้ำที่การันตีเรื่องรายได้จากอัตราการรอดและคุณภาพของสัตว์น้ำ ปัจจุบันหลังจบโครงการฯ ทางกรมประมงได้มีการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานในการช่วยอำนวยความสะดวกและประสานงานอย่างต่อเนื่องทั้งการลงพื้นที่ให้ความรู้ สนับสนุนปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่อง สำหรับฟาร์มของผม “รุ่งมณีชาฟาร์ม” ตั้งอยู่บนเลขที่…ตำบลปากแรต อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นฟาร์มเลี้ยงปลาทองมีพื้นที่เกือบ 1 ไร่ มีบ่อเลี้ยงประมาณ 300 บ่อ ซึ่งจากเดิมทางฟาร์มจะมีปัญหาหลักด้านอาหารสัตว์น้ำ ปัจจุบันหลังเข้าร่วมโครงการฯ ได้นำความรู้ต่างๆ มาปรับใช้ในฟาร์มส่งผลให้ปลาทองมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ปลามีสุขภาพแข็งแรง พบการตายน้อย น้ำไม่ค่อยเน่าเสีย ทำให้ลูกพันธุ์มีอัตราการรอดและสามารถจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดไม่ค่อยคึกคักดังเดิมถึงแม้หน่วยงานราชการจะลงพื้นที่กระตุ้นช่องการตลาดทางเกษตรกรอยากเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาแหล่งเงินทุนเข้ามาช่วยแนะนำให้กลุ่มเกษตรกรได้นำไปต่อยอดธุรกิจเพื่อให้ฟื้นตัวได้ดีมากยิ่งขึ้น
รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (สัตว์น้ำสวยงาม) เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญในการปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทย เพราะนอกจากจะสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรรายย่อยทั้งด้านการผลิตและการจำหน่าย การรวมกลุ่มกันจะสร้างอำนาจต่อรองให้เกษตรกร โดยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การเอาเปรียบจากคู่ค้า เพราะเมื่อเกษตรกรเข้มแข็งถึงแม้จะเสร็จสิ้นโครงการฯ ไปแล้วเกษตรกรก็ยังสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพต่อไปได้อย่างยั่งยืน