ก.เกษตรฯผลักดัน”แปลงใหญ่ผัก จ.พังงา” สู่ครัวอันดามัน หวังเพิ่มช่องทางการตลาด เพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ แปลงใหญ่ผัก จังหวัดพังงา ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หมู่ที่ 9 ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งโครงการดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกผักของจังหวัดพังงา ผ่านระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 

โดยให้สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ผักจังหวัดพังงาขึ้น โดยขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับเกษตรกรรุ่นใหม่ ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ผัก จังหวัดพังงา เริ่มต้นในพื้นที่ 4 อำเภอต้นแบบได้แก่ อำเภอเมืองพังงา อำเภอทับปุด อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอท้ายเหมือง หลังจากนั้นได้เกิดการขยายผลสู่อำเภอตะกั่วทุ่ง

4E6FA9C7 699E 40AC 9FC6 4F15F246BF3C

ปัจจุบันแปลงใหญ่ผักจังหวัดพังงามีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมแล้วจำนวน 5 กลุ่ม มีจำนวนสมาชิกรวม 169 ราย พื้นที่รวม 131 ไร่ 3 งาน ชนิดพืชหลักที่ปลูก เช่น ผักสลัด ผักกูด ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว มะเขือ มะนาว บวบกวางตุ้ง แตงกวา ชะอม ตะไคร้ ผักเหลียง เคล ผักยอด ข่า และกะเพรา เป็นต้น โดยได้ผ่านความเห็นชอบรับรองให้จัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ผัก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จากคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรระดับจังหวัด (SCP) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 

F83A8672 66DD 4E93 930F DB793E2EBAAD
AC8F3560 CC89 4613 B6FA 8966FD53352B

ประกอบด้วย กลุ่มแปลงใหญ่ผัก อำเภอเมืองพังงา มีสมาชิกจำนวน 33 ราย จำนวน 37 ไร่ กลุ่มแปลงใหญ่ผัก อำเภอทับปุด มีสมาชิกจำนวน 35 ราย จำนวน 40 ไร่ กลุ่มแปลงใหญ่ผัก อำเภอตะกั่วป่า มีสมาชิกจำนวน 30 ราย จำนวน 32 ไร่ กลุ่มแปลงใหญ่ผัก อำเภอท้ายเหมือง มีสมาชิกจำนวน 43 รายจำนวน 14 ไร่ และ กลุ่มแปลงใหญ่ผัก อำเภอตะกั่วทุ่ง มีสมาชิกจำนวน 30 ราย จำนวน 10 ไร่

ทั้งนี้ จังหวัดพังงามีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวนทั้งสิ้น 61 แปลง แบ่งเป็น ด้านพืช จำนวน 54 แปลง ปศุสัตว์ จำนวน 6 แปลง และด้านประมง จำนวน 1 แปลง ซึ่งทุกแปลงยังคงดำเนินการตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการคือ เกษตรกรมีการรวมกลุ่มและบริหารจัดการร่วมกัน ทำให้เกิดการรวมกันผลิตและรวมกันจำหน่ายโดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน และเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยมีนักส่งเสริมการเกษตรอยู่เคียงข้างเสมอ

สำหรับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอตะกั่วทุ่งแห่งนี้ เป็นหนึ่งในศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรหลักทั้ง 8 แห่งของจังหวัดพังงา ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชน สำหรับแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ตอบสนองความต้องการด้านการเกษตรของชุมชน ถือเป็นศูนย์ที่มีจุดเด่นในเรื่องการจัดการฟาร์มด้วยระบบอัจฉริยะ สามารถให้เกษตรกรมาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติได้ 

E88A0961 750E 4E82 8866 D9382DF54C54

โดยสินค้าทางการเกษตรของ ศพก. อำเภอตะกั่วทุ่ง เช่น เมล่อน และผักปลอดภัย ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร หรือ เครื่องหมายรับรอง “Q” จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่แสดงถึงความมีคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า รวมทั้งมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรให้ก้าวหน้าและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้อีกด้วย