ปัจจุบัน “จิ้งหรีด” กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดที่มีเกษตรกรนิยมเลี้ยงจำหน่ายจำนวนมาก เพราะเป็นแมลงที่สามารถบริโภค มีคุณค่าทางอาหารสูงเทียบเท่ากับเนื้อปลาทู เนื้อไก่ มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด เป็นแมลงเศรษฐกิจของไทยที่มีศักยภาพสูง มีการขยายตัวการผลิตในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก โดยสามารถทำรายได้มูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท/ปี
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จะเห็นได้จากในปัจจุบัน มีวิสาหกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 1,033 กลุ่ม และสหกรณ์การเกษตร ในเขตปฏิรูปที่ดินจำนวน 119 สหกรณ์ และจากการติดตามผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาพบว่า วิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินบางส่วนยังประสบปัญหาเรื่องการแปรรูปและการจัดการผลผลิต รวมทั้งการส่งเสริมด้านการตลาด และขาดวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือและอาคารดำเนินการผลิต
ดังนั้น ส.ป.ก. จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาธุรกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยเน้นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า การบริหารจัดการธุรกิจอย่างมืออาชีพ และการพัฒนาสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) รวมทั้งการพัฒนาช่องทางด้านการตลาด เพื่อให้เกษตรกร สมาชิกกลุ่มเกษตรกร สมาชิกวิสาหกิจชุมชน และสมาชิกสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินมีความสามารถในการแข่งขันสามารถพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสินค้าเกษตร และการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม อันจะนำมาซึ่งรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
การส่งเสริมการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ เช่นวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านหนองปลาไหล ตำบลหนองปลาไหล อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เกษตรกรได้ร่วมกลุ่มสมาชิกจัดทำแปลงใหญ่จิ้งหรีด สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตเป็น 3,000 กก /เดือน/กลุ่ม ราคาผลผลิตเฉลี่ย 130 บาท/กิโลกรัม รายได้กลุ่ม 390,000 บาท/เดือน ซึ่งเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และมีการยกระดับการผลิตตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด
“ในพื้นที่ส.ป.ก. ในแต่ละปีนี้เราจะมีงบประมาณที่จะส่งเสริมให้กับพี่น้องเกษตรกร ในส.ป.ก.เองเรามีกลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรวิสาหกิจประมาณพันกว่าแห่ง เราก็พยายามที่จะให้ในแต่ละแห่งช่วยพิจารณาเรื่องของความพร้อมในการที่จะรับเรื่องของการพัฒนาเรื่องแมลงเศรษฐกิจ ซึ่งเราพิสูจน์แล้วในกลุ่มของหม่อนไหม ในพื้นที่ที่เขามีความพร้อมเขาสามารถสร้างรายได้แล้วก็ปลดหนี้ได้ดีพอสมควร
ในกลุ่มของจิ้งหรีดวันนี้ผมยกตัวอย่างกลุ่มนึงที่เป็นกลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในบ้านหนองปลาไหล อยู่หมู่ที่ 5 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตที่ทำเรื่องการเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อเป็นแมลงเศรษฐกิจในการสร้างรายได้ให้กับกับตัวเองในพื้นที่ นอกจากเราเข้าไปในเรื่องของการให้เงินทุน หรือให้กระบวนการในเรื่องการผลิตการให้ความรู้แล้ว การต่อยอดเรื่องของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เองก็มีเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดผง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง แล้วก็มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะมีออเดอร์ส่งมาเพื่อให้เขาผลิตส่งไปให้
ตรงนี้ก็จะเป็นอันนึงที่สามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับกลุ่มนะครับ นอกเหนือจากการทำออเดอร์จากการส่งเข้ามาเป็นการเฉพาะสำหรับกลุ่มแล้ว ก็จะมีเรื่องของการเปิดตลาดออนไลน์ซึ่งส.ป.ก. ตอนนี้เราก็ทำอยู่ในเว็บไซต์ส.ป.ก.ก็จะเป็นช่องทางหนึ่ง” เลขาส.ป.ก.กล่าว
นอกจากเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อการจำหน่ายแล้ว กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ยังสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้แก่ จิ้งหรีดผง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนคุณภาพสูงและมีลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง
สำหรับช่องทางการตลาด กลุ่มวิสากิจชุมชนฯ มีช่องทางการตลาดทั้งในชุมชน ตัวแทนรับจำหน่าย และสามารถพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ เช่น Facebook ทำให้สามารถทำการตลาดได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น ช่วยสร้างรายได้เพิ่ม ที่สำคัญมีอำนาจต่อรองทางการตลาดเพิ่มขึ้น
เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวเพิ่มเติมว่า “จิ้งหรีดเท่าที่เราพบเขาจะเลี้ยงกันในลักษณะครอบครัวที่มีความพร้อมและมีการดูแลดี เพราะตัวแมลงต้องดูแลใกล้ชิดพอสมควร บางชนิดมีมูลค่าทางการเกษตรสูงแต่มีความอ่อนไหวในการเลี้ยงดูพอสมควร บางชนิดมันต้องเข้าไปดูแลอย่างจิ้งหรีดความอ่อนไหวน้อยกว่าไหม แต่ว่าต้องมีการดูแลมีอาหาร มีการจัดที่อยู่ให้ดี แต่ถ้าหากเลี้ยงแล้วมีตลาดค่อนข้างมีรายได้ที่ดีพอสมควร เพราะว่าแมลงที่เป็นโปรตีนสูงก็คือจิ้งหรีดในกลุ่มนึง
ไหมเองก็จะเป็นเรื่องของการทอผ้าเรื่องของคนที่ชอบทาน รังไหมก็จะเป็นเรื่องของกันการต่อยอดเป็นสินค้าที่เป็นงานฝีมืออันนี้ก็ต้องต้องการไอเดียตรงนี้ต้องมีการต่อยอดพอสมควร ส.ป.ก.เอง เราพยายามที่จะทำอาชีพต่างๆมีความหลากหลายในพื้นที่เรา เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาชีพ เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร”