เกษตรทฤษฎีใหม่ ตอบโจทย์คนปลูก ถูกใจผู้บริโภค

วันนี้ถ้าใครได้ไปพูดคุยกับผู้คนในชุมชนบ้านจำปูน ต.ท่าธง อ.รามัน จ. ยะลา จะเห็นใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มของพวกเขาที่ฉายแววตาแห่งความสุข ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป เพราะแม้จะเป็นเกษตรกรเหมือนเดิม แต่วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ด้วยปัจจัยการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพาะปลูกหรือการขาย ส่งผลให้ผลิตผลทางการเกษตรของชาวบ้านจำปูน มีราคา และมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะเจ้าประจำอย่างโรงพยาบาลรามัน ซึ่งบางวันผลผลิตมีไม่เพียงพอ

พื้นที่บ้านจำปูน ต.ท่าธง อ.รามัน จ. ยะลา ก็เหมือนกับหลายพื้นที่ในชายแดนใต้คือ เป็นดินเหนียวปนทราย เป็นทางผ่านของน้ำ ช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วม ช่วงหน้าแล้งก็จะแล้งหนัก ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ ทางโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบประยุกต์ตามแนวพระราชดำริฯ หมู่ 6 บ้านจำปูน จึงได้ร่วมกับทางชลประทานต่อท่อลงในแปลงเกษตรของชาวบ้าน รวมทั้งทำฝายชะลอน้ำพร้อมติดตั้งสปริงเกอร์ให้ใช้อย่างสะดวก ทำให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะไม่ขาดแคลนน้ำเหมือนแต่ก่อน

306949950 5569612859744556 489273199402062210 n
วิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่บุหงากาโป

พร้อมกันนั้น เมื่อปี 2564 ทางมูลนิธิปิดทองฯ และหลายหน่วยงานร่วมสนับสนุนให้เกษตรกรที่นี่ รวมตัวจัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่บุหงากาโป มีสมาชิก 23 คน และส่งเสริมให้ทำเกษตรปลอดภัย รวมทั้งทำตลาดเองด้วย แตกต่างจากเดิมที่เกษตรกรแต่ละคนขายกันเอง ทำให้ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง

โดยทางมูลนิธิปิดทองฯ ได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในการจัดอบรมให้องค์ความรู้เรื่องการปลูกพืช และพาไปศึกษาดูงาน รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการเกษตร การบริหารจัดการกลุ่ม การทำบัญชีและการตลาด

ย้อนไปในอดีตชาวบ้านทำการเกษตรแบบใช้สารเคมี เนื่องจากต้องการผักที่สวยเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพของตัวเอง แต่พอมูลนิธิปิดทองฯ เข้ามาได้บูรณาการการทำงานส่งเสริมให้ความรู้ ร่วมกับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กรมพัฒนาที่ดิน ส่งผลให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบปลอดภัย เน้นปลูกพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ฟักทอง ผักบุ้ง กระเจี๊ยบ คะน้า กวางตุง ถั่วฟักยาว แตงโม ผักกาด และพริก เพื่อลดรายจ่าย และสร้างรายได้ในครัวเรือน

ภายหลังการรวมกลุ่ม สมาชิกสามารถต่อรองราคากับพ่อค้าได้ ทำให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น เช่น จากเดิม ผักบุ้งขายกิโลกกรัมละ 12 บาท ตอนนี้ขายได้กิโลกรัมละ 20-25 บาท อีกทั้งสมาชิกกลุ่มได้รวบรวมผลผลิตทางการเกษตรขายตามตลาด เปิดขายออนไลน์ นำส่งโรงพยาบาลรามัน ทำให้สมาชิกมีรายได้จากการขายเพิ่มมากขึ้น

ไม่เพียงชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้คนในชุมชนเกิดความสามัคคี ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ร่วมกันบริหารจัดการ รู้จักการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพราะในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่ม มีการวางกฎระเบียบของกลุ่มร่วมกัน

อีกทั้งก่อนการปลูกพืชแต่ละรอบ จะมีการเรียกประชุมสมาชิกกลุ่มเกษตร พูดคุยถึงปัญหาที่พบเจอก่อนหน้านั้น เพื่อหาแนวทางแก้ไขด้วยกัน พร้อมวางแผนการปลูกร่วมกัน โดยจะสอบถามสมาชิกแต่ละรายมีความสนใจจะปลูกพืชชนิดใดบ้าง ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในช่วงนั้นด้วย จะได้ง่ายต่อการจัดจำหน่ายออกสู่ตลาด

นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการจัดตั้งกลุ่ม ซึ่งสมาชิกต่างมีหน้าที่ความรับผิดชอบแตกต่างกันไป ทั้งคนปลูกและคนกิน คนปลูกเองก็มีความสุข ปลูกแล้วมีคนซื้อในราคาที่คุ้มค่ากับหยาดเหงื่อแรงงานที่ลงไป ส่วนคนซื้อก็ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยมีคุณภาพ