หวังลดต้นทุนการผลิต เพิ่มศักยภาพในการผลิต ขยายพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่ Smart Farmer กระทรวงเกษตรฯ จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกร และขับเคลื่อนงานแปลงใหญ่จังหวัดเพชรบุรี
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน “สร้างการรับรู้สู่เกษตรกรและการขับเคลื่อนงานแปลงใหญ่จังหวัดเพชรบุรี”โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภิชาติ สุภาแพ่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกัมพล สุภาแพ่ง คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ลานอเนกประสงค์ชายทะเลหาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
ซึ่งการจัดงานในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สู่เกษตรกร รวมถึงนำเสนอความสำเร็จจากการขับเคลื่อนงานแปลงใหญ่ ทั้งในส่วนของผลการดำเนินงานที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และที่กำลังจะดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพิ่มศักยภาพในการผลิต ขยายพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่
รวมถึงทำการวิเคราะห์เชิงลึกต่อความต้องการของกลุ่มสมาชิกเพื่อจัดทำแผนธุรกิจและรูปแบบการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่ Smart Farmer และการเชื่อมโยงการตลาด ซึ่งให้ความสำคัญกับการผลิตที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง ใช้การตลาดสมัยใหม่ เพื่อให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงของโลก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญในการปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทย มีเป้าหมายการดำเนินงานทั้งสินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์ เน้นการสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรรายย่อย ด้านการผลิตและการจำหน่าย มีผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีการรวมกลุ่มกันสร้างอำนาจต่อรองให้เกษตรกร โดยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การเอาเปรียบจากคู่ค้าใด ๆ และมีโอกาสในการขยายตลาดไปช่องทางต่าง ๆ ได้มากขึ้น
จากการรวมตัวกันเพื่อผลิตสินค้าเกษตร การบริหารจัดการ และการหาช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันโดยมีหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนด้วยกระบวนการเรียนรู้ การสร้างการรับรู้แบบมีส่วนร่วม และใช้พื้นที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนา มองเป้าหมาย พื้นที่ คน สินค้า เข้าด้วยกันโดยมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ เป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตทางการเกษตร มี Smart Farmer และ Young Smart Farmer เป็นเกษตรกรต้นแบบของชุมชน เป็นแบบอย่างในการพัฒนาให้เกษตรกรสามารถดำเนินการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาด
“แปลงใหญ่เป็นนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ที่ตั้งใจจะพัฒนา ยกระดับ และให้ความช่วยเหลือเกษตรทั้งประเทศ หากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจหรือแปลงใหญ่ได้ จะสะดวกในการที่ภาครัฐจะเข้ามาดูแล ทั้งในเรื่องการสนับสนุนงบประมาณ สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และให้สินค้าเกษตรมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นนโยบายเกษตรแปลงใหญ่จะเป็นนโยบายที่ได้รับการสานต่ออย่างแน่นอนอย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะไม่ทอดทิ้งเกษตรรายย่อยด้วย โดยได้มอบหมายเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้เกษตรกรเข้มแข็งให้ได้ สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังจะผ่านไป สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำคือการผลิตวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งนโยบายครัวโลกเป็นนโยบายที่กระทรวงเกษตรฯ ตั้งใจทำเพื่อยกระดับเกษตรกร จึงต้องมีการส่งเสริมทางด้านการตลาดเพิ่มขึ้น โดยบูรณาร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง หากเกษตรกรมั่นคงและมั่งคั่ง จะทำให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียน และทำให้ประเทศชาติมั่นคงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร โดยจะดูแลพี่น้องเกษตรกรให้เหมือนเป็นคนในครอบครัว และต้องเอาพี่น้องเกษตรกรเข้ามาเป็นครัวครัวด้วยเช่นกัน เพราะปัญหาจะสามารถพูดคุยและแก้ไขได้ง่ายยิ่งขึ้น” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรี ดำเนินการเกษตรแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีแปลงใหญ่ทั้งสิ้นจำนวน 51 แปลง แบ่งเป็น ข้าว พืชไร่ ไม้ผล ปศุสัตว์ เกลือทะเล และแมลงเศรษฐกิจ มีเกษตรกร 2,248 ราย พื้นที่ 43,579.5 ไร่
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ได้มีการจัดสถานีสร้างการรับรู้สู่เกษตรกร จำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีที่1 การอารักขาพืชเพื่อรับมือกับโรคและแมลงศัตรูพืชในฤดูฝน โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี สถานีที่ 2 การปรับปรุงบำรุงดิน และการจัดการดิน-ปุ๋ย ในภาวะปุ๋ยเคมีราคาแพง โดยสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี สถานีที่ 3 การบริหารจัดการเครื่องจักรกลเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อทดแทนแรงงาน และลดต้นทุนการผลิต โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเพชรบุรี สหกรณ์การเกษตร กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอม และเครือข่ายแปลงใหญ่ข้าว
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการความรู้ที่จำเป็นสำหรับเกษตรกร จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสถาบันการศึกษา รวมถึงการออกร้านจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่ม Smart Farmer / Young Smart Farmer และ Fisherman Market ด้วย