วันที่ 9 กันยายน 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบรางวัลแปลงใหญ่ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2565 แก่กลุ่มแปลงใหญ่ต้นแบบจำนวน 6 รางวัล หวังขยายผลการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ พร้อมเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของแปลงใหญ่ดีเด่นสู่สาธารณะ และกระตุ้นการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการดำเนินงานแปลงใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานมอบรางวัลการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2565 จำนวน 6 รางวัล ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ แปลงใหญ่มะพร้าว หมู่ 2 ตำบลเขาล้าน อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รับเงินรางวัล 60,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร ปัจจุบันมีสมาชิก 72 ราย พื้นที่ 1,041 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1,124,280 ผล/ปี มีผลสำเร็จคือ สามารถลดต้นทุนได้ร้อยละ 20.03 จากการผลิตปุ๋ยหมักใช้เองการจัดการแมลงศัตรูมะพร้าวที่ถูกต้อง การตรวจวิเคราะห์ดินก่อนการใส่ปุ๋ย ฯลฯ สามารถเพิ่มผลผลิตจาก 1,200 ผล/ไร่/ปี เป็น 1,350 ผล/ไร่/ปี มีการพัฒนาคุณภาพ โดยสมาชิกได้รับมาตรฐาน GAP ครบทุกราย และยกระดับเป็นมาตรฐานอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังมีตลาดขายโดยตรงต่อลูกค้ารายย่อยและบริษัท และมีการบริหารจัดการ เช่น การประชุมต่าง ๆ การให้บริการเครื่องมือเครื่องจักรแก่สมาชิก การวางแผนเข้าร่วมอบรม และการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกผ่านช่องทางไลน์แอปพลิเคชั่นที่สะดวกและรวดเร็ว
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ แปลงใหญ่ข้าว หมู่ 7 ตำบลหนองเมือง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี รับเงินรางวัล 40,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร ปัจจุบันมีสมาชิก 117 ราย พื้นที่ 1,794 ไร่ ผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 772 ตัน/ปี (เฉลี่ย 430 กก./ไร่) มีผลสำเร็จ คือ สามารถลดต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 800 บาท/ไร่ จากการลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวต่อไร่ การส่งเสริมการทำนาหยอด และการต่อรองราคาเครื่องจักรกลการเกษตร สามารถเพิ่มผลผลิตเฉลี่ย 45 กิโลกรัม/ไร่ จากการผลิตปุ๋ยหมัก/ ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ น้ำหมักไล่แมลง การปลูกพืชปุ๋ยสดในแปลง เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน การไถกลบตอซัง และจัดทำแปลงต้นแบบและแปลงพยากรณ์ ด้านคุณภาพผลผลิต ได้มาตรฐานรับรองมาตรฐานอินทรีย์GAP และได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี ด้านการตลาดมีการทำสัญญาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและการประมูลเพื่อจำหน่ายสินค้าข้าวแปรรูปกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงตลาดออนไลน์และการออกร้านต่าง ๆ รวมถึงมีการบริหารจัดการโดยจัดประชุมเพื่อติดตามการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน หมู่ 7 ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร ปัจจุบันมีสมาชิก 321 คน พื้นที่ 3,397.79 ไร่ผลผลิตรวม 10,872 ตัน/ปี รายได้รวม 78.67 ล้านบาท มีผลสำเร็จ คือ ลดต้นทุนการผลิตได้ 785 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นร้อยละ 23.93 มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 650 กิโลกรัม/ไร่/ปี คิดเป็นร้อยละ 24.07 จากการใช้ปุ๋ยเคมีตรงตามค่าวิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยหมัก ด้านคุณภาพผลผลิตตรงตามมาตรฐานสินค้าเกษตรทะลายปาล์มน้ำมันและตรงตามความต้องการของโรงงานรับซื้อ จึงมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน จำนวน 2 แห่ง และได้ราคาสูงกว่าตลาดอย่างน้อย ๒๐ สตางค์/ 1 กิโลกรัม ด้านการบริหารจัดการ มีการประชุมและฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง
รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ กลุ่มส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี, แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา และแปลงใหญ่มะขาม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะขามแปลงใหญ่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเสี้ยวอำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้มีการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่นเป็นประจำทุกปี เพื่อคัดเลือกแปลงใหญ่ที่มีผลงานโดดเด่น เป็นตัวอย่างในการขยายผลการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของแปลงใหญ่ดีเด่นสู่สาธารณะ และกระตุ้นการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการดำเนินงานแปลงใหญ่ให้มีประสิทธิภาพบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การดำเนินงานในระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ คือการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรผ่านการบริหารจัดการร่วมกัน และมุ่งเน้นการพัฒนา 5 ด้าน คือ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน บริหารจัดการ และจัดการด้านการตลาด โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด มีการเชื่อมโยงกลุ่มผู้ผลิตกับตลาด เพื่อตกลงรูปแบบการซื้อขายร่วมกันก่อให้เกิดความเป็นธรรมของทั้ง 2 ฝ่าย ตามนโยบาย “ตลาดนำการเกษตร” ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ที่ผ่านการรับรองแล้ว จำนวน 8,955 แปลง เกษตรกรประมาณ 4.9 แสนราย พื้นที่ 8 ล้านไร่ สร้างมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตรวมประมาณ 71,575 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565) นอกจากนี้ แปลงใหญ่ยังคงมีการเชื่อมโยงตลาดต่าง ๆ เช่น ตลาด Modern trade ส่งผลให้มีตลาดรองรับที่แน่นอน เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงจากราคาผันผวน มีรายได้ที่แน่นอน และสร้างความมั่นคงในอาชีพการเกษตร
สำหรับคุณสมบัติของแปลงใหญ่ที่เข้าประกวดในปีนี้ ประกอบด้วย เป็นแปลงใหญ่ปี 2559 – 2563 ตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีผลการดำเนินงานให้ตรวจสอบย้อนหลังได้อย่างน้อย 2 ปี และไม่เคยได้รับรางวัลแปลงต้นแบบ และแปลงใหญ่ดีเด่นระดับประเทศ ซึ่งขั้นตอนการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่นครั้งนี้ดำเนินการใน 3 ระดับ คือ การประกวดระดับจังหวัด ดำเนินการตัดสินโดย คณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรระดับจังหวัด (SC) หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร การประกวดระดับเขต ดำเนินการตัดสินโดย คณะกรรมการตัดสินการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2565 และการประกวดระดับประเทศ ดำเนินการตัดสินโดย คณะกรรมการตัดสินการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2565
ทั้งนี้ผลการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2565 มีกลุ่มแปลงใหญ่อื่น ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกด้วย ได้แก่ แปลงใหญ่กล้วยหอมเขียวคาเวนดิช ตำบลโพประจักษ์ อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี, แปลงใหญ่ทั่วไป(ข้าว) ตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี, แปลงใหญ่ผักเพื่อนใจบ้านคลองมะละกอ ตำบลสระขวัญ อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว, แปลงใหญ่กลุ่มปลูกกล้วยหอมทอง เพื่อการส่งออกหนองบัวแดง บ้านหัวนาคำ หมู่ 7 ตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ, แปลงใหญ่มะพร้าวเกาะพะงัน หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี, แปลงใหญ่ลำไยตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่, แปลงใหญ่ปลากรายและปลาน้ำจืดอื่นๆ หมู่ 2 ตำบลธรรมามูล อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท, แปลงใหญ่เห็ดนางฟ้า ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี, แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หมู่ที่ 5 ตำบลวังตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี, แปลงใหญ่ข้าว หมู่ 5 ตำบลโพนเมืองน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ, วิสาหกิจชุมชนผึ้งโพรงแปลงใหญ่ตำบลโคกม่วง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา, แปลงใหญ่ข้าว ตำบลบ้านน้ำพุ อำเภอคีรีมาศจังหวัดสุโขทัย, แปลงใหญ่แพะเนื้อ ตำบลรำมะสัก อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง, แปลงใหญ่ข้าว หมู่ 1 ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม, แปลงใหญ่ขนุน อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี, แปลงใหญ่หม่อนไหม ตำบลกกแดง อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร, แปลงใหญ่ข้าวศูนย์ข้าวชุมชนบ้านขอนแก่น หมู่ 4 ตำบลหนองฮะ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์, แปลงใหญ่ทั่วไป(จิ้งหรีด) หมู่11 ตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น, แปลงใหญ่มังคุด หมู่ 1 2 4 6 8 ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช, แปลงใหญ่ผักอินทรีย์ ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์และแปลงใหญ่ส้มเขียวหวาน ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่