กรมประมงโชว์ความสำเร็จ “โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่”ยก “กลุ่มประมงเลี้ยงกบบ้านใหม่น้ำเงิน” ขึ้นแท่นไอเท็มเด็ด ของพะเยาโมเดลตอบโจทย์การทำเกษตรสมัยใหม่ ที่ใช้นวัตกรรมลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพผลผลิตสู่มาตรฐาน GAP

382201
382187

กรมประมง…เดินหน้าขับเคลื่อน “โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่” หนึ่งในนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โชว์ความสำเร็จ การเพาะเลี้ยงกบนาพะเยา (PHAYAO FROG) ของ “กลุ่มประมงเลี้ยงกบบ้านใหม่น้ำเงิน” ภายใต้พะเยาโมเดล ขึ้นแท่นไอเท็มเด็ดเป็นสินค้าประมงที่โดดเด่น หลังรวมกลุ่มได้เข้มแข็ง พัฒนาสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุน พร้อมปั้นผลผลิตให้มีคุณภาพด้วยหนอนแมลงโปรตีน (BSF) และได้การรับรองมาตรฐาน GAP ยกกลุ่ม

382188

นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า “โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่” ได้เริ่มดำเนินโครงการฯ เมื่อปี 2559 ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดย นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมประมง ภายใต้การกำกับดูแลของ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เร่งผลักดันโครงการฯ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งปัจจุบันกรมประมงมีพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ทั้งด้านน้ำจืด และชายฝั่ง รวมทั้งสิ้น 206 แปลง พื้นที่รวมกว่า 59,422 ไร่ มีชนิดสัตว์น้ำที่หลากหลายตามความเหมาะสมของพื้นที่และศักยภาพของเกษตรกร อาทิ ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุก กุ้งทะเล กุ้งก้ามกราม ปลากะพงขาว ปูทะเล ปลาสลิด ปลาหมอ ปลาช่อน ปลาสวาย ปลาแรด หอยแมลงภู่ หอยนางรม และกบ เป็นต้น ซึ่งจากผลการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา พบว่ามีหลายกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ สามารถพัฒนาศักยภาพการรวมกลุ่มให้เกิดความเข้มแข็งในการบริหารจัดการ พร้อมยกระดับแปลงใหญ่ด้วยการทำเกษตรสมัยใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับลดต้นทุน ต่อยอดสู่การพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงการตลาด เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนมีรายได้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

382189

สำหรับ การเพาะเลี้ยงกบนาพะเยา (PHAYAO FROG) กรมประมงได้ส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะลูกกบบ้านใหม่น้ำเงิน ตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา ดำเนินการภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งกำกับดูแลโดยกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และสำนักงานประมงจังหวัดพะเยา โดยเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2566 เนื่องจากเล็งเห็นว่า “กบ” เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดในพื้นที่จังหวัดพะเยาและพื้นที่ใกล้เคียงสูง ราคาดี ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 40 ราย พื้นที่การเลี้ยงกว่า 3.53 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงในกระชังบก บ่อคอนกรีต และบ่อดินขนาดเล็ก โดยสมาชิกทุกรายได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP แสดงให้เห็นถึงการยกระดับคุณภาพสินค้าสัตว์น้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น และเข้าร่วมโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการประมง ในปีงบประมาณ 2568 จึงได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท เพื่อนำมายกระดับการดำเนินงานของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย

382190

นางศรีนวล นามเมือง หนึ่งในเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกบบ้านใหม่น้ำเงิน และผู้จัดการแปลงภาคเอกชนของโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดพะเยา มีการเพาะเลี้ยงกบในพื้นที่อำเภอปง ระยะเวลานานกว่า 10 ปี โดยจะเลี้ยงในช่วงหน้าแล้งระหว่างเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ซึ่งในระยะแรกเกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม จนตลาดเริ่มขยายตัวมีความต้องการผลผลิตกบสูงขึ้น ชาวบ้านจึงสนใจหันมาเพาะเลี้ยงกันมากยิ่งขึ้น แต่ยังประสบปัญหาด้านการผลิต เนื่องจากต้นทุนหลักค่าอาหารในการเลี้ยงสูง รวมถึงเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดเทคนิค ความรู้ และวิธีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง กระทั่งเมื่อกรมประมงได้เข้ามาส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มตามแนวทางโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้านการประมง พร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณ รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีสำหรับประยุกต์ใช้ในการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลผลิต อาทิ สอนเทคนิคการผสมเทียมกบร่วมกับการกระตุ้นการเพาะพันธุ์แบบธรรมชาติ เพื่อลดความเครียดของพ่อแม่พันธุ์กบ ทำให้ได้ลูกพันธุ์กบที่แข็งแรงสมบูรณ์ รวมทั้งการปรับลดอัตราความหนาแน่นในการเลี้ยงเพื่อให้กบเติบโตได้ดีขึ้น ส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ ปม.1 เพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำสำหรับปรับปรุงคุณภาพน้ำและลดการเกิดโรค ฝึกอบรมให้เกษตรกรผลิตหนอนแมลงโปรตีน Black Soldier Fly (BSF) ซึ่งมีปริมาณโปรตีนและไขมันสูงช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการเจริญเติบโตให้กับกบ และใช้แหนแดงเป็นอาหารเสริมในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กบเพื่อให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง ยังเป็นการนำกระบวนการและระบบของธรรมชาติ (Nature-based solution, NbS) มาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเลี้ยง ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรผลิตกบเนื้อเพื่อจำหน่ายและมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มสภาพคล่องในการประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนเทคนิคการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น กบถอดเสื้อ น้ำพริกข่ากบ และหนังกบแดดเดียว ซึ่งรองรับต่อความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพื้นที่จังหวัดพะเยามีศักยภาพด้านการตลาดที่โดดเด่น เนื่องจากพื้นที่อำเภอปงอยู่ไม่ไกลจากด่านถาวรไทย – ลาว บ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เพียง 67 กิโลเมตร จึงเป็นโอกาสในการขยายช่องทางการตลาดไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตอีกด้วย

382191

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับแผนในระยะต่อไป กรมประมงจะเร่งเดินหน้าโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อพัฒนาแปลงทั้งด้านการเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุนการผลิต เชื่อมโยงขยายช่องทางการตลาด และการบริหารจัดการอย่างครบวงจร โดยใช้หลักการ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนต่อไป

382192
382193
382194
382195