นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “แก้วมังกร” เป็นไม้ผลที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยในปี 2567 (ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร) ประเทศไทยมีการส่งออกแก้วมังกร 1,995.92 ตัน มูลค่าการส่งออก 236.78 ล้านบาท ซึ่งแก้วมังกรมีแหล่งปลูกมากที่สุดในจังหวัดเลย คิดเป็นร้อยละ 73 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูเรือ ทั้งนี้ ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ เป็นแหล่งปลูกแก้วมังกรที่มีศักยภาพ พื้นที่ได้รับการส่งเสริมการรวมกลุ่มแบบแปลงใหญ่เพื่อผลิตแก้วมังกรให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายออกสู่ตลาด
จากการติดตามของ สศท.3 พบว่า กลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่แก้วมังกร ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เป็นกลุ่มที่ดำเนินงานภายใต้ BCG Model เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแก้วมังกร โดยเริ่มดำเนินการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ภายใต้นโยบายส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจ ในปี 2562 มีนางเจียน กิตติกา ศรีบุรินทร์ เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 35 ราย ได้รับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 30 ราย และอีก 5 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินการ พื้นที่ปลูกรวม 321 ไร่
ด้านสถานการณ์การผลิต เกษตรกรนิยมปลูกช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค.หลังจากปลูกประมาณ 8 เดือน จะเริ่มออกดอกและให้ผลผลิตช่วงเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องถึงเดือนธันวาคม โดยในปี 2567 ให้ผลผลิตรวม 1,445 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 4,000 – 5,000 กิโลกรัม/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 15.75 บาท/กิโลกรัม
ด้านสถานการณ์ตลาด กลุ่มรวบรวมผลผลิตของสมาชิกตามยอดการสั่งซื้อของพ่อค้า และผลผลิตส่วนที่เหลือสมาชิกกลุ่มเป็นผู้ขายเอง โดยผลผลิตส่วนใหญ่ของกลุ่มนำไปขายเป็นผลสด และนำส่วนที่ตกเกรดบางส่วนมาแปรรูป
สำหรับกลยุทธ์การพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มที่สำคัญคือ ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ๆ จากแก้วมังกร ได้แก่ กิมจิแก้วมังกร และขนมขาไก่แก้วมังกร ภายใต้แบรนด์ “ลองจิ (Longchi)” ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย จังหวัดเลย (Loei Safety Food หรือ LSF) และมาตรฐานอาหารและยา (อย.) และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเลย ในการส่งเสริมและผลักดันสินค้า การจำหน่ายผ่านร้านค้าในพื้นที่ และการตลาดออนไลน์ อีกทั้ง การสร้างมูลค่าเพิ่มจากแนวคิด BCG Model โดยนำแก้วมังกรที่ตกเกรด ผิวไม่สวย แต่เนื้อภายในยังดี ไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การทำขนมดอกจอกจากแก้วมังกร เจลลี่แก้วมังกร แยมแก้วมังกร ไอศกรีมแก้วมังกรกะทิสด นอกจากนี้ กลุ่มยังมีการบริหารจัดการคุณภาพของผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐานของตลาด เน้นการลดต้นทุนการผลิต โดยการใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมี เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง การผลิตปุ๋ยหมักจากมูลไก่และมูลวัวที่นำมาจากชุมชนบริเวณรอบ ๆ ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านปุ๋ย บำรุงดินให้สมบูรณ์และผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพขายให้สมาชิกของกลุ่มในราคา 250 บาท/กระสอบ และขายให้ผู้ปลูกแก้วมังกรทั่วไปในราคา 300 บาท/กระสอบ ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ผลิตจากมูลไก่ มูลวัว สาร พด. น้ำหมักชีวภาพ กากน้ำตาล ทำให้ได้ปุ๋ยที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีแมลงวันตอม และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
ทั้งนี้ ผลผลิตแก้วมังกรของกลุ่มมีลักษณะและรสชาติเฉพาะ คือ ผิวเกลี้ยงสวย ผลโต รสชาติหวาน กรอบ ไม่นิ่ม และไม่เละ สำหรับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจปลูกหรือแปรรูปแก้วมังกร หรือต้องการสั่งซื้อสินค้าของกลุ่ม สามารถสอบถามได้ที่ นางกิตติกา ศรีบุรินทร์ (แม่เจียน) ประธานกลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่แก้วมังกร ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โทร. 09 8650 5414 หรือ สอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โทร 0 4289 9058