สศท.6 ชูผลสำเร็จ ‘กลุ่มแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบ’ จ.ฉะเชิงเทรา ผลิตพืชเศรษฐกิจ ‘ไผ่’ ดึงนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตและแปรรูป สร้างรายได้กลุ่ม 2,091,800 บาท/ปี

ผอ.สศท.6

 นางสาวนริศรา เอี่ยมคุ้ย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มุ่งเน้นนโยบายตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรของไทย บริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับศักยภาพความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งแนวทางที่นำมาขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการสินค้าเกษตรด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นสินค้าทางเลือกในอนาคต (Future Crop) สำหรับภาคตะวันออกหนึ่งในสินค้าเกษตรทางเลือก คือ“ไผ่” พืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกทดแทนในเขตพื้นที่ไม่เหมาะสมของสินค้าที่สำคัญ สำหรับแหล่งพื้นที่ปลูกไผ่ตงเขียวของภาคตะวันออกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา

127607

จากการติดตามของ สศท.6 พบว่า จังหวัดปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา มีแปลงใหญ่ไผ่ทั้งหมด 7 แปลง โดยตัวอย่างแปลงใหญ่ไผ่ที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ แปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบ หมู่ 9 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเริ่มรวมกลุ่มจดทะเบียนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจกลุ่มผู้ปลูกไผ่อำเภอท่าตะเกียบ ปี 2559 และเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2561 ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศแปลงใหญ่ดีเด่นระดับประเทศ  ประจำปี 2563 ปัจจุบันแปลงใหญ่ไผ่ มีพื้นที่ปลูก 275 ไร่ มีสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ 38 ราย เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์ไผ่ตงเขียว เป็นไผ่ตงสายพันธุ์ศรีปราจีนนำเข้ามาปลูกจากจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 2 ขึ้นไป จึงเริ่มตัดหน่อออกจำหน่ายได้ จนถึงอายุเฉลี่ย 25 ปี ไผ่จะเริ่มออกหน่อน้อยลง ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวในฤดูกาลช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม และนอกฤดูกาลช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม สำหรับการจำหน่ายผลผลิตของแปลงใหญ่ไผ่ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ จำหน่ายแบบหน่อไม้สด 94% และจำหน่ายแบบแปรรูป 6% ซึ่งจากกระบวนการผลิตและแปรรูปสามารถสร้างรายได้ให้กลุ่ม 2,091,800 บาท/ปี

           

127605

สำหรับการดำเนินงานของแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบ มีการบริหารจัดการได้ตามเป้าหมายการพัฒนาแปลงใหญ่ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการลดต้นทุนการผลิต โดยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก น้ำหมักจาก พ.ด.2 ทำให้ลดค่าปุ๋ยเคมีจากการผสมปุ๋ยใช้เอง สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อยู่ที่ 6,330 บาท/ไร่/ปี จากก่อนเข้าร่วมโครงการมีต้นทุนเฉลี่ย 8,670 บาท/ไร่/ปี หรือ ลดลงร้อยละ 26.99 ด้านการเพิ่มผลผลิต โดยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักจากเปลือกหน่อไม้ ปุ๋ยคอกและน้ำหมัก พ.ด.2 และใช้ถุงดำคลุมหน่อไผ่ตงเพื่อให้หน่อใหญ่ อวบและรสชาติดี สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 2,260 กิโลกรัม/ไร่/ปี จากก่อนเข้าร่วมโครงการมีผลผลิตเฉลี่ย 1,500 กิโลกรัม/ไร่/ปี หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.67 ด้านการพัฒนาคุณภาพการการผลิต สมาชิกกลุ่มทุกรายผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และได้รับมาตรฐาน อย.ผลผลิตภัฑณ์หน่อไม้ต้มท่าตะเกียบ ด้านการตลาด กลุ่มแปลงใหญ่ได้ทำ MOU กับตลาดผักร่วมใจ (ตลาดไท) โดยผลผลิตของสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ไผ่ ร้อยละ 88 จำหน่ายที่ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมืองจังหวัดปทุมธานี ร้อยละ 8 จำหน่ายตลาดต่างจังหวัด เช่น จังหวัดราชบุรี นครปฐม สระบุรี ศูนย์กระจายสินค้าจังหวัดอยุธยา และสมุทรสาคร และร้อยละ 4 จำหน่ายให้กับห้างสรรพสินค้าแม็คโครสาขาจังหวัดฉะเชิงเทราและนครนายก ด้านการบริหารจัดการ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐและเอกชนทั้งองค์ความรู้ อุปกรณ์ ปัจจัยการผลิต ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งบริหารจัดการวางแผนการผลิต คุณภาพผลผลิตได้มาตรฐาน GAP และมีสถานที่ดำเนินงานได้รับมาตรฐาน GMP

127604

นอกจากนี้ กลุ่มแปลงใหญ่ไผ่ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพและคุณภาพ ได้แก่ การปรับใช้นวัตกรรม การคลุมหน่อไผ่ตงโดยการใช้ถุงดำทำให้หน่อมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือใช้เครื่องยนต์ดัดแปลงจากรถไถนาเดินตามนำมาล้างหน่อไผ่ตงเพื่อลดแรงงานในการล้าง การนำงานวิจัยไปต่อยอดในการพัฒนาการผลิต ได้รับการสนับสนุนจัดทำแปลงทดสอบสูตรเคมีที่ใช้เพื่อหาสูตรปุ๋ยและระยะปลูกให้ได้ผลผลิตมากที่สุด เกษตรกรรมแม่นยำสูง ส่งเสริมและสนับสนุนระบบ Smart Farm ในการตรวจวัดความชื้นในอากาศ อุณหภูมิ ปริมาณแสง ความชื้นในดิน เพื่อกำหนดปริมาณการให้น้ำ เกษตรกรมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม เครื่องจักรกลสมัยใหม่ในการผลิต การใช้เครื่องจักรเพื่อจัดทำปุ๋ย ฯลฯ หรือใช้รถไถเพื่อลดการใช้แรงงานคนและลดต้นทุนในการผลิต นอกจากนี้มีการดัดแปลงเครื่องยนต์เก่าใช้เพื่อการสูบน้ำเข้าแปลงในการผลิตไผ่นอกฤดู การสร้างสินค้าที่เป็นนวัตกรรม เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าวัตถุดิบ ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม โดยการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น ยาสระผมถ่านไม้ไผ่ สบู่เหลวถ่าน ไม้ไผ่ หน่อไม้ดอง และหน่อไม้ต้มชีลสูญอากาศ เพิ่มช่องทางและโอกาสการค้าผ่านระบบ e-commerce โดยกลุ่มมีการจัดทำ Facebook Fanpage : แปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบ และสร้างแบรนด์ของตนเองโดยมหาวิทยาลัยราชภัฎราชคนรินทร์ สนับสนุนการออกแบบโลโก้ ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตของแปลงใหญ่ไผ่ ตำบลท่าตะเกียบ  อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา สอบถามได้ที่ นายประสิทธิ์ รูปต่ำ ประธานแปลงใหญ่ โทร 08 9502 8529 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ สศท.6 โทร 0 3835 1398 อีเมล [email protected]    

127591 0
127588 0
127587 0