ถอดบทเรียน “แปลงใหญ่กล้วยไม้ สมุทรสาคร” หนึ่งในความสำเร็จ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง

messageImage 1725259585030

“โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” เป็นโครงการที่มีเป้าหมายดำเนินการพัฒนาแปลงต้นแบบเกษตรมูลค่าสูง 500 ตำบล ภายในปี 2570 โดยในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตร กำหนดเป้าหมายกลุ่มแปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 46 กลุ่ม จาก 46 ตำบล 43 อำเภอ และ 26 จังหวัด ใน 14 ชนิดพืช และ “แปลงใหญ่กล้วยไม้” ตำบลหนองนกไข่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นหนึ่งในนั้น

messageImage 1725259652191

ถอดบทเรียนแปลงกล้วยไม้ สมุทรสาคร จากเดิมที่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเจริญเติบโตของพืชไม่สมบูรณ์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม แมลงศัตรูพืชระบาดหนัก อีกทั้งยังประสบปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร จากสาเหตุข้างต้นทำให้รายได้ของเกษตรกรปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด เงินออม และเงินทุนของครัวเรือน นอกจากนั้น ราคากล้วยไม้ตัดดอกภายในประเทศมีความผันผวนสูง และสถานการณ์ในปัจจุบันมีราคาตกต่ำ ตลาดการส่งออกไม่แน่นอน เนื่องจากมีการจำกัดปริมาณและข้อจำกัดทางกฎหมายในการควบคุมสินค้าส่งออก

messageImage 1725259633730

การดำเนินการของกรมส่งเสริมการเกษตรที่สำคัญคือ การถอดบทเรียนแปลง เราจะสแกนปัญหาของเกษตรกร วิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางการปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิต กรณีแปลงใหญ่กล้วยไม้สมุทรสาคร เราได้เสนอแนวทางให้เกษตรกรดังนี้ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากระบบการให้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ พัฒนาระบบการจัดการกล้วยไม้สกุลหวายแบบแม่นยำสูง บริหารจัดการให้เกิดความสมดุลของระบบการเจริญเติบโต ผลิตและผสมปุ๋ยใช้เองในปริมาณที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละระยะการเจริญเติบโต เพื่อสร้างความแข็งแรงในการต้านทานและสามารถควบคุมแมลงศัตรูพืช ตลอดจนการพัฒนาสายพันธุ์ต้านทานโรคและแมลง

messageImage 1725259641075

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่ ได้ส่งเสริมให้ใช้ระบบการเฝ้าระวังประเมินความเสี่ยงและการแจ้งเตือน พร้อมวางแผนบริหารความเสี่ยงร่วมกับเจ้าหน้าที่ เช่น การเตรียมน้ำต้นทุนไว้ให้เพียงพอ การบริหารจัดการน้ำให้มีปริมาณเพียงพอในการผลักดันน้ำเค็ม และจัดสรรรถบรรทุกน้ำจากแหล่งน้ำอื่นมายังแปลงเกษตร

messageImage 1725259779900

ในส่วนของแนวทางการแก้ปัญหาด้านการตลาด ได้ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตกล้วยไม้คุณภาพ เพื่อเพิ่มสัดส่วนเกรดคุณภาพและยืดอายุวงจรผลิตภัณฑ์ รวมถึงการทำตลาดซื้อขายล่วงหน้า สร้างช่องทางตลาดใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาบรรจุภัณฑ์และแปรรูปผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงพันธุ์เพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยกรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกรสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย 3 เท่าในปี 2570

messageImage 1725259851206

นอกจากนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้มองไปถึงแหล่งเงินทุนที่จะช่วยเหลือเกษตรกร โดยการจัดหาแหล่งเงินทุนปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยราคาถูกจากสถาบันการเงินต่างๆ ในระยะเวลา 8 เดือน – 1 ปี ระหว่างรอผลิต

การดำเนินการที่ผ่านมาในปี 2566 กลุ่มมีรายได้ 94,400 บาท เมื่อกรมส่งเสริมเข้าไปดำเนินการ ในปี 2567 มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็น 142,194 บาท ซึ่งสูงกว่ารายได้ที่คาดหวังคือ 141,750 บาท ทั้งนี้เมื่อเสร็จสิ้นโครงการเกษตรกรมีความคาดหวังรายได้จะเพิ่มขึ้นไปถึง 283,500 บาท ในปี 2570

ความสำเร็จของกลุ่มกล้วยไม้ อ.กระทุมแบน จ.สมุทรสาคร เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และพร้อมจะยกระดับการผลิต การตลาด รายได้ตามโครงการ ขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป