แปลงใหญ่ผึ้งโพรงไทย ตำบลแก้วแสน อำเภอนาบอนจ.นครศรีฯ สร้างมูลค่าผลผลิตจากการเลี้ยงผึ้ง สู่รายได้ปีละ 178,440 บาท

0ผอ.สศท8
นายนิกร  แสงเกตุ ผอ.สศท. 8

นายนิกร  แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามผลการดำเนินงานของแปลงใหญ่ผึ้งโพรงไทยตำบลแก้วแสน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ปี 2564 นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างกลุ่มแปลงใหญ่ที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นและประสบความสำเร็จ สามารถต่อยอดโครงการยกระดับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแปรรูปน้ำผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่หลากหลายตามความต้องการของตลาด                                                                                                                     

LINE ALBUM ผึ้ง นาบอน ๒๔๐๒๑๙ 69 0

จากการติดตามของ สศท.8 พบว่า แปลงใหญ่ผึ้งโพรงไทยตำบลแก้วแสน เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2562 ปัจจุบันกลุ่ม  มีสมาชิก 37 ราย นายสิทธิพร พรหมเมือง เป็นประธานแปลงใหญ่ มีการเลี้ยงผึ้งโพรง รวม 459 รัง (เฉลี่ย 12.4 รัง/ราย) โดยแปลงใหญ่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ในการก่อสร้างอาคารแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้ง พร้อมจัดซื้ออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน และร้านวางจำหน่ายสินค้า ในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปลูกผลไม้  จึงมีการเลี้ยงผึ้งเสริมรายได้จากพืชเชิงเดี่ยว เพื่อลดความเสี่ยงช่วงราคาพืชผลตกต่ำ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาศักยภาพกลุ่มทั้งด้านการผลิตและการตลาดอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตจากการเลี้ยงผึ้งให้กับกลุ่มเกษตรกรและสมาชิก                                                                                                                

LINE ALBUM ผึ้ง นาบอน ๒๑๙ 50 0

สำหรับการดำเนินงานของแปลงใหญ่ ปี 2566 ทางกลุ่มจะรับซื้อรังผึ้งจากสมาชิก 200 บาท/กิโลกรัม ซึ่งปริมาณการผลิตน้ำผึ้งแต่ละปีจะขึ้นอยู่กับสภาพธรรมชาติ หากฝนตกมากจะมีน้ำผึ้งน้อยลง โดยจำหน่ายน้ำผึ้งแท้ บรรจุขวดขนาด 100 – 750 มิลลิกรัม/ขวด จำหน่ายราคา 79 – 500 บาท/ขวดนอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาต่อยอดผลผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น สบู่ แชมพู และเน้นการจัดการของเสียเป็นศูนย์ (zero waste) ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยนำรังผึ้งที่เหลือทิ้งจากการผลิตมาผลิตเป็นไขผึ้ง จำหน่ายในราคา 100 บาท/ก้อน และนำเศษไม้เหลือทิ้งในชุมชนมาผลิตเป็นรังผึ้งจำหน่ายชุดละ 750 บาท โดยจ้างแรงงานในชุมชนพร้อมการติดตั้ง 200 บาท/กล่อง สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งคิดเป็นมูลค่าทั้งกลุ่มรวม 178,440 บาท/ปี

LINE ALBUM ผึ้ง นาบอน ๒๔๐๒๑๙ 62 0

ด้านสถานการณ์ตลาด  ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 จำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง ส่วนที่เหลือร้อยละ 8 จำหน่ายผ่านแพตฟอร์มออนไลน์  www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com , Facebook ของสมาชิกกลุ่มและเครือข่ายกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งในอำเภอ และร้อยละ 2 จำหน่ายในการจัดประชุมสัมมนาต่าง ๆ ของส่วนราชการในจังหวัด ภายใต้แบรนด์ “ฮันนี่ บี นาบอน”

LINE ALBUM ผึ้ง นาบอน ๒๔๐๒๑๙ 53 0

         

ทั้งนี้ แปลงใหญ่ผึ้งโพรงไทยตำบลแก้วแสน ได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมตามเป้าหมายของแปลงใหญ่ 5 ด้านที่สำคัญ คือ การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน การเชื่อมโยงตลาดและการบริหารจัดการกลุ่ม สำหรับเป้าหมายในอนาคต กลุ่มจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ด้านการศึกษาวิจัยเพื่อต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งให้มีความหลากหลาย และตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตของแปลงใหญ่ผึ้งโพรงไทยตำบลแก้วแสน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช สอบถามได้ที่ นายสิทธิพร  พรหมเมือง ประธานแปลงใหญ่ โทร 08 4852 0638 หรือ สอบถามรายละเอียดผลการติดตามประเมินโครงการ ได้ที่ สศท.8 โทร. 0 7731 1641 อีเมล [email protected]

LINE ALBUM ผึ้ง นาบอน ๒๔๐๒๑๙ 59 0
LINE ALBUM ผึ้ง นาบอน ๒๔๐๒๑๙ 51 0
LINE ALBUM ผึ้ง นาบอน ๒๔๐๒๑๙ 49 0
LINE ALBUM ผึ้ง นาบอน ๒๔๐๒๑๙ 8 0