‘วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แฟร์เทรดศรีสะเกษ’ ผลิตถั่วเหลืองอินทรีย์ พืชความมั่นคงทางอาหาร สร้างรายได้กลุ่มปีละกว่า 1.35 ล้านบาท

0ผอ.สศท.11
นางประเทือง วาจรัต ผอ.สศท.11

นางประเทือง วาจรัต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เห็นได้จากการที่ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าปลอดสารเคมี ส่งผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเข้าสู่ระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทย เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ ในปี 2570

7 0

สศท.11 ติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ พบว่า ถั่วเหลืองอินทรีย์ นับเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดที่เกษตรกรเริ่มให้ความสนใจเพาะปลูก เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่สามารถผลิตหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ การสกัดน้ำมัน แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร หรือผลิตอาหารสัตว์ ทำให้เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ โดยพบการเพาะปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์ที่ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แฟร์เทรดศรีสะเกษ ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองอินทรีย์แห่งเดียวของจังหวัดศรีสะเกษ และได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ จากสหภาพยุโรป (EU) โดยเริ่มดำเนินการปี 2564 ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูก 149 ไร่ สมาชิกเกษตรกร 40 ราย มีนางสาวสมศรี สมบัติวงค์ เป็นประธานวิสาหกิจชุมชน

           

6 0

ด้านสถานการณ์การผลิตถั่วเหลืองอินทรีย์ของวิสาหกิจชุมชน ปีเพาะปลูก 2566/67 พบว่า เกษตรกรเพาะปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์รุ่น 2 (ฤดูแล้ง) ต้นทุนการผลิตของกลุ่มเฉลี่ย 4,099 บาท/ไร่/ปี เกษตรกรปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ของปีถัดไป ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 95 – 110 วัน     ได้ผลผลิตรวม 27 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 182 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 6,384 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 2,285 บาท/ไร่/ปี ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ เกษตรกรอยู่ระหว่างทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือนเมษายน 22 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของผลผลิตถั่วเหลืองอินทรีย์ทั้งหมด ด้าน

9 0

สถานการณ์ตลาด เกษตรกรจะนำผลผลิตมาจำหน่ายให้กับกลุ่มตามเกรดคุณภาพในราคา 30-35 บาท/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคาถั่วเหลืองทั่วไปที่มาราคา 19.50 บาท/กิโลกรัม หลังจากนั้นวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แฟร์เทรดศรีสะเกษ จะทำการรวบรวมผลผลิตทั้งหมดจากสมาชิกเกษตรกรจำหน่ายให้กับบริษัท นอร์ธเทอร์น ฟู้ด คอมเพล็กซ์ จำกัด ในราคา 50 บาท/กิโลกรัม เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเครื่องปรุงรส ทั้งนี้ สามารถสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แฟร์เทรดศรีสะเกษกว่า 1,359,000 บาท/ปี

3 0

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แฟร์เทรดศรีสะเกษ มีแผนที่จะพัฒนาเพิ่มประสิทธิการผลิตการเตรียมดิน  การดูแลจัดการแปลงโดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในแปลงเพื่อให้ถั่วเหลืองอุดมสมบูรณ์ ให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวเพื่อลดต้นทุนการใช้แรงงานคนและลดขั้นตอนการเก็บเกี่ยว

2 0

อย่างไรก็ตาม ถั่วเหลืองเป็นพืชอายุสั้น นิยมนำมาปลูกหลังฤดูการทำนา เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและยังสามารถช่วยตัดวงจรการระบาดของแมลงศัตรูในระบบการปลูกข้าว และช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เกิดความสมดุลของธาตุอาหาร ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นส่งผลต่อการแร่ธาตุในดินที่เพิ่มขึ้นของการปลูกข้าวในนาฤดูกาลถัดไป อีกทั้งภาครัฐได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตพืชเศรษฐกิจ เพื่อความมั่นคงทางอาหารและส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยหลังฤดูทำนา หากท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตถั่วเหลืองอินทรีย์รุ่น 2 (ฤดูแล้ง) สามารถสอบถามเพิ่มเติมหรือขอคำปรึกษาได้ที่นางสาวสมศรี สมบัติวงค์ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แฟร์เทรดศรีสะเกษ ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ โทร.08 6052 3606 และ สศท.11 อุบลราชธานี โทร 0 4534 4654 หรือ อีเมล [email protected]

1 0