นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี(สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำสวนผสมผสานแบบยั่งยืนบางท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่รวมกลุ่มผลิตผักปลอดภัยมาตรฐาน GAP จนประสบผลสำเร็จผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP มีการบริหารจัดการโดยเน้นการตลาดนำการผลิต มุ่งเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งได้รับรางวัลเป็นเครื่องการันตีคุณภาพของสินค้า ได้แก่ รางวัลชนะเลิศกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด ปี 2564 และรางวัล อย.ควอลิตี้ อวอร์ด ปี 2566 ผลิตภัณฑ์สุขภาพดีเด่น ประเภทส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ผลิตภัณฑ์ถั่วฝักยาว จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำสวนผสมผสานแบบยั่งยืนบางท่าข้าม ได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ในปี 2558 โดยมีนายสิทธิพล โตประศรี เป็นประธานวิสาหกิจ ต่อจากนั้นในปี 2560 ได้จัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ผักบางท่าข้าม ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายสมพนธ์ ไทยบุญรอด เป็นประธานแปลงใหญ่ และได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ปี 2564 โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีในการผลิต อาทิ รถไถ สำหรับใช้ในการเตรียมแปลง และโรงเรือนปลูกผัก สามารถปลูกผักที่ไม่ทนต่อสภาพอากาศของภาคใต้ได้
โดยปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกเกษตรกร 58 ราย พื้นที่เพาะปลูกรวม 643 ไร่ ผลิตผักปลอดภัยมาตรฐาน GAP รวมทั้งสิ้น 19 ชนิด (ปลูกเฉลี่ย 9 ชนิด/ครัวเรือน) ได้แก่ ผักบุ้งจีน คะน้า กวางตุ้ง กวางตุ้งไต้หวัน มะระจีน ผักกาดหอม ผักชีไทย บวบเหลี่ยม พริกขี้หนูยอดสน ฟักทอง มะนาว ถั่วฝักยาว ผักชีฝรั่ง แตงกวา แตงร้าน ตะไคร้ โหระพา ฟักเขียว และคะน้ายอด ซึ่งสมาชิกเกษตรกร มีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในการผลิตพืชผักให้ปลอดภัยในทุกขั้นตอน ภายใต้มาตรฐาน GAP และที่คู่ค้ากำหนด สามารถยึดการปลูกผักเป็นอาชีพหลักที่สร้างความยั่งยืนและมีรายได้ครัวเรือนที่มั่นคง มีมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพ ความสะอาด และความปลอดภัยแบบเดียวกับที่จำหน่ายให้ตลาด Modern Trade
นอกจากนี้ เกษตรกรสมาชิกยังมีการประยุกต์ใช้ระบบรดน้ำอัตโนมัติ ควบคุมด้วยระบบ IoT ช่วยให้ลดต้นทุนเรื่องแรงงานและเวลาในการบริหารจัดการน้ำ ช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิตต่อไร่ มีการผลิตสารชีวภัณฑ์โดยใช้ตู้เขี่ยเชื้อ ช่วยให้กลุ่มสามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพไว้จำหน่ายให้กับสมาชิก และช่วยให้สมาชิกลดการใช้สารเคมีในแปลงปลูกได้
หากจำแนกต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนของผักที่สามารถสร้างรายได้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ถั่วฝักยาว ใน 1 ปี ปลูกได้ 2 รอบการผลิต ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 43,200 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 4,000 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 108,000 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 64,800 บาท/ไร่/รอบการผลิต พริกขี้หนูยอดสน ใน 1 ปี ปลูกได้ 1 รอบการผลิต ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 21,000 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 1,500 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 52,500 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 31,500 บาท/ไร่/รอบการผลิตและ กวางตุ้ง ใน 1 ปี ปลูกได้ 5 รอบการผลิต ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,600 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 1,000 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 12,000 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 8,400 บาท/ไร่/รอบการผลิต
ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 จำหน่ายให้พ่อค้าในพื้นที่ และผลผลิตร้อยละ 30 ส่งจำหน่าย ห้างโลตัส แม็คโคร และบริษัท คิงส์ วิช จำกัด กลุ่มได้มีการวางแผนการผลิตร่วมกันเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ป้องกันไม่ให้ผลผลิตมีมากเกินความต้องการอันจะนำไปสู่ปัญหาราคาผลผลิตของสมาชิกตกต่ำ มีการผลิตพืชผัก ภายใต้มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของโลตัส และคู่ค้าทางธุรกิจ (บริษัท คิงส์ วิช จำกัด) อย่างเคร่งครัด สมาชิกปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP อย่างต่อเนื่อง ทำให้คู่ค้าภาคเอกชนอื่น ๆ และตลาดในท้องถิ่น ได้รับพืชผักที่มีมาตรฐานเดียวกันกับที่จำหน่ายในห้างโลตัส ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยมากขึ้น
“แนวทางในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและแปลงใหญ่ให้มีความเข้มแข็งและพัฒนาได้อย่างยั่งยืนนั้น สามารถทำได้โดยผ่านการเรียนรู้จากกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ มีกระบวนการบริหารจัดการที่ดี มีข้อมูลการผลิตของสมาชิกที่ครอบคลุม ทุกมิติเพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการและตัดสินใจของผู้บริหารกลุ่ม จะเป็นแนวทางที่จะทำให้กลุ่มที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน หรือกลุ่มเกษตรกรที่กำลังรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือแปลงใหญ่ สามารถใช้ในการเรียนรู้พัฒนาต่อไป และในอนาคตทางกลุ่มจะพัฒนากระบวนการผลิตพืชผัก รักษาพื้นที่ปลูกผักให้เกิดความยั่งยืน รองรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น ประกอบด้วย ช่องทาง Modern Trade (โลตัส แม็คโคร และคู่ค้าทางธุรกิจ) และพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น ขยายโรงคัดบรรจุผักสด พร้อมระบบห้องเย็น มาตรฐาน GMP เพิ่มกำลังการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้า ขยายผลการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรมาช่วยยกระดับการผลิตมากขึ้น เช่น ระบบให้น้ำอัตโนมัติ และโรงเรือนปลูกผักอัตโนมัติ หากท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตและผลการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำสวนผสมผสานแบบยั่งยืน บางท่าข้าม สุราษฎร์ธานี สามารถสอบถามได้ที่ นายสิทธิพล โตประศรี โทร 08 3637 0938 และนายสมพนธ์ ไทยบุญรอด โทร 08 3914 5064 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร. 0 7731 1641 หรืออีเมล [email protected]” ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวทิ้งท้าย