“พาณิชย์”ถกโรงสี เข้ารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ หลังฝนตกชุก ทำข้าวมีความชื้นสูง กดราคาตก พร้อมเร่งเปิดตลาดนัดข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น จากที่เปิดแล้ว 46 จุด ใน 27 จังหวัด มั่นใจจากนี้ ราคาปรับตัวสูงขึ้น หลังฝนทิ้งช่วง เผยยังมีมาตรการชะลอการขาย เกษตรกรได้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท หากเก็บในยุ้งฉางตัวเอง และยังได้เงินสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ไปใช้จ่ายก่อน
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้หารือกับสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมโรงสีภาคอีสาน และพาณิชย์จังหวัด ให้ช่วยดูแลสถานการณ์จำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิในภาคอีสาน หลังพบว่าในช่วงที่ผ่านมา บางพื้นที่ มีฝนตกชุก และชาวนาเร่งเก็บเกี่ยว ทำให้ข้าวเปลือกมีความชื้นสูง ส่งผลให้ราคาลดลงตามคุณภาพ โดยข้าวเปลือกสดลดเหลือ 10,700 บาทต่อตัน หรือคิดเป็นข้าวแห้งความชื้น 15% ที่ 13,800 บาทต่อตัน ต่ำกว่าราคาปัจจุบันที่ข้าวเปลือกสด 11,000–11,300 บาทต่อตัน คิดเป็นข้าวแห้งความชื้น 15% ที่ 14,200–14,600 บาทต่อตัน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือให้โรงสี ช่วยรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาที่เพิ่มขึ้น และสั่งการให้พาณิชย์จังหวัดเร่งเปิดตลาดนัดข้าวเปลือกเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่เปิดแล้ว 46 จุดใน 27 จังหวัด ให้ครอบคลุมการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในทุกพื้นที่ รวมทั้งได้ประสานให้โรงสีนอกพื้นที่เข้าไประดมช่วยรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเพิ่มเติมอีกอีกทาง และมั่นใจว่า หลังจากที่ฝนได้ทิ้งช่วง คาดว่าสถานการณ์ราคาข้าวจากนี้ จะปรับตัวสูงขึ้น
นายกีรติกล่าวว่า สำหรับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ได้มีการออกมาตรการชะลอการขายข้าวเปลือก เป้าหมาย 3 ล้านตัน โดยเกษตรกรจะได้รับเงินค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน และได้รับเงินสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปใช้จ่ายก่อนโดยไม่ต้องเร่งขาย โดยเปลือกข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 12,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมนอกพื้นที่ 10,500 บาทต่อตัน ข้าวปทุมธานีและข้าวเหนียว 10,000 บาทต่อตัน ข้าวเจ้า 9,000 บาทต่อตัน แต่ถ้านำไปฝากเก็บที่สหกรณ์ เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าฝากเก็บละ 500 บาทต่อตัน ส่วนสหกรณ์ได้ 1,000 บาทต่อตัน
นอกจากนี้ หากไปขายข้าวเปลือกที่สหกรณ์ จะได้รับราคาข้าวเปลือกเกี่ยวสดที่ความชื้นไม่เกิน 25% ในราคา 12,200 บาท ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติวงเงินไปแล้ว 56,321 ล้านบาท ดำเนินเงินช่วยเหลือค่าบริหารจัดการ ไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่ สูงสุดครัวเรือนละ 20,000 บาท ซึ่ง ธ.ก.ส. จะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยเร็ว หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ