ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าขณะนี้ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำรวจข้อมูลหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ในวันอังคาร ที่ 7 พ.ย. โดยต้องการให้โครงการพักชำระหนี้ให้ครอบคลุมในส่วนของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศด้วย เช่นเดียวกับลูกหนี้ ธ.ก.ส. อีกทั้งยังจะเสนอขอชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 4.5 เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณรวม 55,038.96 ล้านบาท (แยกเป็นวงเงินสินเชื่อ 44,437 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 10,601.96 ล้านบาท
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวต่อว่า เข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรทุกคนดี จึงเห็นว่านโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคเกษตรควรดูแลครอบคลุมถึงเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ภาคการเกษตร และกลุ่มเกษตรกร ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกับเกษตรกรรายย่อย ที่เป็นลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. ที่มีหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท โดยจะเป็นการพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่ามีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข จำนวน 707,213 ราย มูลหนี้รวม 88,131.33 ล้านบาท และจะขอความเห็นชอบรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรแทนสมาชิก ในอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2569 ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้นำเสนอไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะเลขานุการคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรฯ แล้ว
นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส ยังมอบหมายให้กรมการข้าวและกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา 2 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 ด้วยวงเงินจ่ายขาด 10,601.96 ล้านบาท โดยจะมีมาตรการดังนี้
1.สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีเป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 10,120.71 ล้านบาท ช่วยค่าฝาก 1,500 บาทต่อตัน (สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน+เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน) ให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1-5 เดือน เริ่ม 1 ต.ค. 2566 ถึง 29 ก.พ. 2567 ในราคาข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวหอมมะลิปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท ข้าวเหนียวตันละ 10,000 บาท หากราคาข้าวขึ้น รวมถึงเกษตรกรรายย่อยที่มียุ้งฉางด้วย (เริ่มจ่ายเงินหลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบ)
2.สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม มีเป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481.25 ล้านบาท สหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน เริ่ม 1 ต.ค. 2566 ถึง 30 ก.ย. 2567 (เริ่มจ่ายเงินหลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบ) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับระบบสหกรณ์และเกษตรกรทั่วประเทศที่ถือเป็นกลไกพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจฐานราก จึงได้มุ่งดำเนินการยกระดับและการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนด้านการเงิน และสร้างความยั่งยืนทางอาชีพแก่เกษตรกรและระบบสหกรณ์
ส่วนเงินช่วยเหลือพี่น้องชาวนาซึ่งเป็นค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าวไร่ละ 1,000 บาท/ไร่ จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติต้นเดือนธันวาคมนี้