นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูง ต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยกันดูแล และการเปลี่ยนแปลงด้านราคาก็ต้องคำนึงถึงปากท้องประชาชนด้วย เช่นเดียวกับการใช้งบประมาณไปอุดหนุนก็จะต้องระมัดระวัง
โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างมาตรการบริหารจัดการข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/2567 ใน 4 มาตรการ ครอบคลุมเป้าหมายข้าว 14 ล้านตัน วงเงินราว 69,000 ล้านบาท ได้แก่
1.) มาตรการการชะลอการขาย เพื่อเก็บในยุ้งฉาง 1-5 เดือน จำนวน 3 ล้านตัน โดยเกษตรกรจะได้รับค่าช่วยฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน ผ่าน ธกส. / และกลุ่มสหกรณ์ จะได้รับค่าฝากเก็บ 1,000 บาทต่อตัน และเกษตรกรจะได้ 500 บาทต่อตัน
2.) มาตรการเก็บสต๊อกข้าวเปลือก-ข้าวสาร 2-6 เดือน จำนวน 10 ล้านตัน โดยโรงสี ข้าวถุง และผู้ส่งออก จะได้ชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 4
3.) มาตรการสินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือก ด้วยการช่วยดอกเบี้ย 15 เดือน โดยสหกรณ์จะได้รับการชดเชยดอกเบี้ย ร้อยละ 3.85 โดยจ่ายเองเพียงร้อยละ 1 จากดอกเบี้ย ธสก. 4.85%
4.) มาตรการช่วยลดต้นทุน รายละไม่เกิน 20 ไร่ โดยช่วยเหลือเกษตรกร 1,000 บาทต่อไร หรือ 20,000 บาทต่อครอบครัว
ทั้งนี้ มีรายงานว่าที่ประชุมยังไม่ได้ความชัดเจนใน 4 มาตรการดังกล่าว โดยให้แต่ละหน่วยงานนำกลับไปพิจารณาอีกครั้ง
ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมดังกล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์ที่ราคาข้าวตกต่ำ และหลังจากนี้เชื่อว้่ ข้าวหอมมะลิจะทะลักเข้าสู่ตลาดมาก จึงจะมีมาตรการชะลอการขาย เพื่อไม่ให้ข้าวเข้าตลาดมาก จนทำให้ราคาตกมากกว่านี้ โดยชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก จะต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และเป็นธรรม โดยรัฐบาล อยากให้เกษตรกรใช้กลไกสหกรณ์การเกษตร เป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหา เพราะมีสหกรณ์หลายแห่งที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธสก. สามารถเข้าถึงให้การช่วยเหลือได้ และคาดว่า เมื่อผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ ราคาข้าวหอมมะลิจะกลับมาปรับตัวสูงขึ้น แต่ในช่วงสถานการณ์ทั่วโลกกำลังพลิกผันอยู่นี้ รัฐบาลโดย กบข.ก็จะมีการประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และหาทางแก้ไขปัญหาให้ทันเวลา
นายภูมิธรรม ยังยอมรับด้วยว่า มาตรการเหล่านี้ เป็นมาตรการเฉพาะหน้า แต่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปวางมาตรการระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาต่อไป และมอบหมายให้กรมการข้าว ไปวิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ เพื่อช่วยชาวนา เพิ่มปริมาณข้าวต่อไร และยกระดับพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับที่ตลาดโลกต้องการ