กรมวิชาการเกษตรนำทีมตรวจมาตรฐาน GAP “โรงปลูกกัญชง”ระบบปิด

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 กรมวิชาการเกษตร นำทีมตรวจรับรองมาตรฐาน GAP “โรงปลูกกัญชงระบบปิด” (INDOOR FACILITIES PLANT FACTORY) ของบริษัท แอมเบอร์ ฟาร์ม จำกัด ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมทำพิธีตัดช่อดอกกัญชงช่อแรกก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งที่ 1 ขานรับนโยบายการรับรองแหล่งผลิต “พืชกัญชา กัญชง” ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร (มกษ. 3502-2561) และระเบียบกรมวิชาการเกษตรว่าด้วยการรับรองผลิตพืชตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) หนุนภาคเอกชนยื่นขอตรวจรับรองแปลง GAP ทั้งหมด การันตีผลผลิตได้มาตรฐานการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรกัญชงที่มีคุณภาพและความปลอดภัย

287894733 394585989368116 860768075765633705 n
ตรวจรับรองมาตรฐานGAP “โรงปลูกกัญชง”

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์) เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามภารกิจด้านการรับรองแหล่งผลิต“พืชกัญชา กัญชง”ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร (มกษ. 3502-2561) และระเบียบกรมวิชาการเกษตรว่าด้วยการรับรองผลิตพืชตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) ตามนโยบายของ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์)

โดยมีเป้าหมายหลักให้ประชาชนปลูก “พืชสมุนไพร” ในครัวเรือน เพื่อใช้ดูแลสุขภาพในครัวเรือนเกษตรกรปลูก และสร้างรายได้หรือต่อยอดเป็นธุรกิจ ซึ่งได้จัดทำแนวทางการตรวจประเมินให้การรับรองแหล่งผลิต “พืชกัญชา กัญชง” ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร

สำหรับเกณฑ์ในการตรวจประเมินแหล่งผลิต GAP “พืชสมุนไพร”ของกรมวิชาการเกษตร จะปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร (มกษ.3502-2561) โดยมีข้อกำหนดการตรวจประเมิน 8 ข้อ

คือ 1) น้ำ ที่ใช้ในแปลงปลูกต้องมาจากแหล่งที่ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนที่กระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และน้ำที่ใช้หลังการเก็บเกี่ยวต้องสะอาดมีคุณภาพตามมาตรฐานการบริโภค

2) พื้นที่ปลูก ต้องไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในผลิตผล และพื้นที่ที่ใช้เพาะปลูกต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3) วัตถุอันตรายทางการเกษตร หากมีการใช้ให้ใช้ตามคำแนะนำ หรืออ้างอิงในคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ในการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างถูกต้อง และมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากสารพิษ

4) การจัดการคุณภาพในกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว ต้องมีแผนควบคุมการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ต้องตรงตามพันธุ์ มีวิธีการปฏิบัติดูแลรักษาที่เหมาะสมตามชนิดของ “พืชสมุนไพร” โดยคำนึงถึงปริมาณสาระสำคัญ

5) การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว ให้เก็บเกี่ยวในระยะเวลาและใช้วิธีการที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงปริมาณสารสำคัญ มีวิธีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว/ลดความชื้นที่เหมาะสม และถูกสุขลักษณะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพของพืชสมุนไพร

6) การเก็บรักษาและการขนย้ายสถานที่เก็บพืชสมุนไพรต้องถูกสุขลักษณะสามารถป้องกันความชื้นจากภายนอก และการปนเปื้อนจากวัตถุอันตรายและสัตว์พาหะนำโรคได้ ภาชนะบรรจุต้องสะอาด มีมาตรการป้องกันไม่ให้พืชสมุนไพรมีความชื้นระหว่างขนย้าย

7) สุขลักษณะส่วนบุคคล ต้องมีการดูแลสุขลักษณะส่วนบุคคลที่สัมผัสกับผลผลิตโดยตรงโดยเฉพาะหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนสู่ผลผลิต ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ความเข้าใจหรือได้รับการฝึกอบรมด้านสุขลักษณะส่วนบุคคล มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขลักษณะส่วนบุคคลที่เพียงพอและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

การบันทึกข้อมูลและการตามสอบมีเอกสารและบันทึกข้อมูล ได้แก่ การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร การปฏิบัติก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว การฝึกอบรมคุณลักษณะส่วนบุคคล เก็บรักษาข้อมูลการปฏิบัติงานและเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อการทวนสอบเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปีเกณฑ์การตัดสินผลการตรวจประเมินต้องผ่านข้อกำหนดหลักทุกข้อ และข้อกำหนดรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของข้อกำหนดรองทั้งหมด กรณีการตรวจประเมินเพื่อต่ออายุใบรับรองในรอบปีต่อไปต้องแสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันกระแสความต้องการบริโภคสมุนไพรเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศในการดูแลสุขภาพ ทั้งที่เป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เครื่องเทศเครื่องดื่มสมุนไพร รวมถึงยารักษาโรค ผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง เชื้อราและเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค โลหะหนัก และสิ่งปนปลอม และเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีสรรพคุณเป็นที่เชื่อถือ

ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาด้านระบบการผลิตสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของประเทศ และสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าส่งออกและสร้างรายได้ที่ยั่งยืน พร้อมเร่งผลักดันให้เกษตรกรปลูกสมุนไพรภายใต้ระบบ GAP เพื่อยกระดับคุณภาพสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

ในส่วนของกลุ่มเกษตรกรหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่ประสงค์จะขอการรับรองแหล่งผลิตพืชสมุนไพร สามารถยื่นขอรับรองแหล่งผลิต GAP กัญชง ได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 – 8 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในจังหวัดที่ดำเนินการเพาะปลูก โดยจะมีขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ก่อน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตรวจประเมินของกรมวิชาการเกษตรจะนัดวันเข้าตรวจประเมินในพื้นที่แหล่งผลิตหรือแปลงปลูกที่ยื่นขอรับรองต่อไป