ส.ว.ทำบันทึก วอนนายกฯ รีบปิดสูญญากาศ “กัญชาเสรี” หวั่นกระทบเยาวชน-สังคม

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว. ) โพสต์เฟซบุ๊กข้อความว่า รีบปิดสุญญากาศ “กัญชาเสรี”

ตั้งแต่วันที่9มิย.65 ที่ผ่านมา รัฐบาลโดย กสธ.ปลดล๊อกให้ “กัญชาเสรี” แล้ว

เป็นไปตามนโยบายพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่ได้เข้าร่วมรัฐบาล คุมบังเหียนกระทรวงสาธารณสุข (ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแลสุขภาพประชาชนมากกว่าเศรษฐกิจ)

ใครใคร่ปลูก -ปลูก, ใครใคร่เสพ-เสพ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่

เพราะยังไม่มีกฎหมายควบคุมการบริโภคกัญชา

เป็น “สุญญากาศ” เกิดขึ้นทันที

287731060 5897277930299315 8003883714111261813 n 1

สถาบันทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ห่วงใยผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และสังคมที่จะตามมา

จึงขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ทำอะไรได้ ทำด่วนเลยครับ

อย่ารอการออกกฎหมายควบคุมตามขั้นตอนซึ่งใช้เวลาอีกนาน

“กว่าถั่วจะสุก” ระวัง “งาจะไหม้หมด” นะครับ

บันทึก ส.ว.(601)

ส.ว.อำพล

ต่อมา“เพจชมรมแพทย์ชนบท” ได้แชร์บันทึกของ น.พ.อำพล

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย มีความห่วงใยและตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น จึงมีคำแนะนำเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดจากกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น ดังนี้

  1. เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปีไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ และกัญชามีสาร THC ที่มีผลต่อสมองเด็กในระยะยาว ดังนั้นเด็กจึงไม่ควรได้รับ THC ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์เช่น ประกอบการรักษาประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โรคลมชักรักษายาก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด
  2. ให้มีการประชาสัมพันธ์กับประชาชนเรื่องโทษของการใช้กัญชากับสมองเด็ก เพื่อให้เกิดความตระหนักต่อการเข้าถึงกัญชาในเด็กและวัยรุ่นเพื่อนันทนาการว่ากัญชาเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติด ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตในระยะเฉียบพลัน และอาจรุนแรงถึงกับชีวิตได้ รวมถึงมีผลกระทบในระยะยาวต่อสมอง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของสมองที่กำลังพัฒนา
  3. ให้มีมาตรการควบคุม การผลิต และขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสม และให้มีเครื่องหมาย/ ข้อความเตือนอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยระบุ “ห้ามเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค”
  4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ควบคุมไม่ให้มีการจงใจออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เช่น ภาพการ์ตูน หรือใช้คำพูดสื่อไปในทางให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารหรือขนมที่เด็กและวัยรุ่นบริโภคได้
  5. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พร้อมเสมอที่จะให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงและถูกต้องบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงให้ข้อแนะนำที่เหมาะสมแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น