กรมการค้าต่างประเทศเผยกรณีอินเดียเตรียมห้ามส่งออกน้ำตาลทราย เพื่อให้เพียงพอใช้ในประเทศ คาดส่งผลกระทบทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกลดลง ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น และสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ จะมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลอินเดียเตรียมประกาศห้ามส่งออกน้ำตาลทรายสำหรับฤดูกาลหน้า เดือน ต.ค.2566 เพื่อสงวนใช้ในประเทศให้เพียงพอ หลังจากปีนี้อินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ประสบกับปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดในช่วงครึ่งปีแรก ต่อเนื่องด้วยภาวะฝนขาดช่วงในฤดูมรสุมในเขตปลูกอ้อยหลัก ในรัฐ Maharashtra ทางตะวันตกและรัฐ Karnataka ทางตอนใต้ ซึ่งมีผลผลิตน้ำตาลของสองรัฐรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมดของอินเดีย ทำให้ผลผลิตน้ำตาลของฤดูกาลผลิตปี 2566/67 ลดลงเหลือ 31.7 ล้านตัน หรือลดลง 3.3% และอาจส่งผลต่อการเพาะปลูกในฤดูกาลผลิตปี 2567/68
โดยที่ผ่านมา อินเดียผลิตน้ำตาลเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีขนาดประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน จึงมีการบริโภคภายในประเทศมากที่สุดในโลก และผลิตเอทานอลจากอ้อยส่วนเกิน โดยในช่วงการผลิต ปี 2565/66 รัฐบาลอินเดียได้อนุญาตให้ส่งออกน้ำตาล 6.1 ล้านตัน แต่ช่วงเดือน ก.ค.2566 อินเดียประสบสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อด้านค้าปลีกพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน อยู่ที่ 7.44% และอัตราเงินเฟ้อด้านอาหารอยู่ที่ 11.5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 3 ปี และคาดว่าปริมาณน้ำตาลของอินเดียอาจจะไม่เพียงพอที่จะจัดสรรโควตาการส่งออกสำหรับฤดูกาลหน้า
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ราคาน้ำตาลโลกถูกกำหนดโดย 3 ยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออก คือ บราซิล ไทย และอินเดีย หากอินเดียดำเนินมาตรการห้ามส่งออกน้ำตาล ย่อมส่งผลให้อุปทานน้ำตาลโลกลดลง และราคาน้ำตาลโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ
สำหรับปีการผลิต 2565/66 ไทยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 93.88 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.97% และมีผลผลิตน้ำตาลปี 2565/66 ประมาณ 11.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.88% โดยมีปริมาณการส่งออกน้ำตาลในช่วงม.ค.-ก.ค.2566 ประมาณ 5.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.4%