จังหวัดนราธิวาส สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาสจัดงาน “เปิดฤดูกาลเก็บเกี่ยวทุเรียนจังหวัดนราธิวาส ประจำปี 2566” โชว์ผลงานเกษตรกรพัฒนาทุเรียนคุณภาพสร้างชื่อ “บางนรา” ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เพิ่มโอกาสทุเรียนจังหวัดชายแดนใต้ขยายตลาดมากขึ้น
นายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิดฤดูกาลเก็บเกี่ยวทุเรียนจังหวัดนราธิวาส ประจำปี 2566 ณ แปลงทุเรียนเกษตรกร นายเชือน ดำนิล เกษตรกรบ้านโนนสมบูรณ์ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยนายเชือน เป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพสายแร่ทองคำ 1 ใน 20 วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพ ภายใต้เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดำเนินงานตามโครงการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณเพื่อเพิ่มมูลค่าทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การจัดงานครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพภายใต้ชื่อ “ทุเรียนบางนรา” ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพดี ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดอีกช่องทางหนึ่ง จุดเด่นของทุเรียนบางนรา คือปลูกในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งภูเขา ป่าต้นน้ำ และราบลุ่มแม่น้ำ “ดินดี น้ำดี” และอยู่ในพื้นที่ที่มีแม่น้ำสายแร่ทองคำไหลผ่าน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทุเรียนบางนรา มีเปลือกค่อนข้างบาง กลิ่นหอมนุ่ม เนื้อค่อนข้างแห้งและละเอียด เคี้ยวละมุนลิ้น
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะมีพิธีการตัดทุเรียนลูกแรกจากต้นในสวนของนายเชือนแล้ว ยังมีกิจกรรมการเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรกร ผู้ร่วมงานที่สนใจ อาทิ การสาธิตวิธีตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน การให้ความรู้เกษตรกรในการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณทุเรียน เป็นต้น สำหรับผู้ร่วมงานมีทั้งเกษตรกรชาวสวนทุเรียนของจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียง เกษตรกรที่ทำสวนทุเรียนแปลงใหญ่ เกษตรอำเภอและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานไม้ผล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในพื้นที่อีกด้วย
โครงการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณเพื่อเพิ่มมูลค่าทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาทุเรียนตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เริ่มจากต้นทาง คือ การให้ความรู้กับเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพทุเรียน ตั้งแต่การจัดการบำรุงรักษาดินและน้ำในแปลงการดูแลตามระยะการเจริญเติบโต การบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลางทาง คือ การติดตามความก้าวหน้าและให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอน จนถึงการเก็บเกี่ยวให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ คือ ทุเรียนต้องไม่อ่อน มีปริมาณแป้งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 32 และปลายทาง คือ เชื่อมโยงตลาดพันธมิตรที่ให้การสนับสนุนในการรับซื้อทุเรียน เพื่อสร้างมาตรฐานการรับซื้อ การคัดคุณภาพ และการรวบรวมผลผลิต เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เป็นต้น
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพสายแร่ทองคำ สุคิริน มีสมาชิก 14 ราย มีทุเรียนจำนวน 28.25 ไร่ ต้นทุเรียน รวม 444 ต้น มีผลผลิตทุเรียนในปี 2565 จำนวน 8,951.50 กิโลกรัม สร้างรายได้ให้เกษตรกร รวม 619,043 บาท คาดการณ์ปริมาณผลผลิตทุเรียนปีนี้ รวม 49,653 กก. คาดการณ์รายได้ 4,766,688 บาท