รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร กำกับดูแล และติดตามสถานการณ์ การแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่มีผลกระทบต่อคุณภาพ การส่งออกทุเรียนในตลาดจีน ซึ่งอาจจะทำให้ขาดความเชื่อมั่นในผลไม้ไทย รวมถึงหวั่นเกิดความเดือดร้อนกับเกษตรกรผู้ส่งออก จึงได้ให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกำชับกระบวนการส่งออกผลทุเรียนสดตลอด Supply Chain ตามนโยบาย ทุเรียนไทยทุเรียนคุณภาพ ตามที่ตนได้เคยมอบนโยบายไว้ ตั้งแต่เข้ามากำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากกรณีทุเรียนสดไทยถูกส่งกลับเนื่องจากตรวจพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (Mudaria luteileprosa) ได้มีการตรวจสอบเอกสารที่มีการแจ้งเตือนกับ GACC ร่วมกับการตรวจสอบย้อนกลับ และข้อเท็จจริงจากโรงคัดบรรจุในพื้นที่พิจารณาแล้วที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ หรือส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงทุเรียนไทยในภาพรวม รวมถึงกระทบกับข้อผูกพันทางการค้ากับกับจีน กรมวิชาการเกษตรจะสั่งระงับ (DOA) หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช หรือล้ง จำนวน ๘ ล้ง ๑๘ ชิปเมนท์ ประมาณ ๓๐๓ ตัน ตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ เป็นต้นไป ตามข้อ ๘.๔ ในประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563 กล่าวคือ ต้องรักษาสถานภาพการรับรองมาตรฐานที่ได้ขอขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร
นอกจากนี้ ในประเด็นที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งกับชับให้กำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเกษตรกร และสร้างความเชื่อมั่นให้กับจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนสดตลาดหลักของไทยนั้น ตนและ ดร.ภัชสญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เข้าร่วมประชุมผ่าน ZOOM กับนายสุบรรณ์ รักษ์ทอง เกษตรจังหวัดชุมพร นางสาวฉันทนา คงนคร ผอ.สวพ ๗ นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผอ.สวพ ๘ นายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานพืช ร่วมกับ นายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ ประธาน ศพก.ชุมพร นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ นายกสมาคมชาวสวนผลไม้จังหวัดชุมพร ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร เพื่อระดมความคิดเห็น ยกระดับการรวบรวมและคัดบรรจุทุเรียนคุณภาพเพื่อส่งออก จัดการกับปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เช่น การคัดแยกทุเรียนที่มีหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในผลทุเรียนสด ตั้งแต่ตัดทุเรียนสดจากสวน และคัดแยกซ้ำอีกครั้งในโรงล้ง โดยวิธีการพักทิ้งไว้ ประมาณ ๒ วัน ให้เกิดความร้อน เพื่อแยกทุเรียนที่มีหนอนเจาะออกมา และผลิตเป็นทุเรียนแกะเนื้อแช่แข็ง เพื่อให้สามารถส่งออกไปจีนได้ ซึ่งต้องเพิ่มความตระหนักในการป้องกัน กำจัด เฝ้าระวังหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยเฉพาะเกษตรกรในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ต้องการผลักดันนโยบาย ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ (Premium Thai Durian ) ให้ยั่งยืน ตลาดต่างประเทศมีความเชื่อมั่น ในการบริหารการส่งออกทุเรียนทั้งระบบ ดังนั้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ เอกชน ต้องร่วมมือกัน ทำความเข้าใจในกระบวนการผลิต ตรวจคุณภาพ มาตรฐาน และรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกทุเรียนทั้งระบบ จึงต้องมีการเพิ่มความเข้มงวดมาตรการทางกฎหมายภายในประเทศ ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขในพิธีสารไทย -จีน เช่น ปฏิเสธการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช การระงับทะเบียนล้ง ทะเบียนสวน และทะเบียนผู้ส่งออก ตามที่ระเบียบกรมวิชาการเกษตรกำหนด
“ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งชาวสวน และเอกชน ต้องเร่งรัดเพิ่มความตระหนักช่วยกันแก้ไขปัญหาสินค้าที่กำลังทยอยออกมา โดยขอให้จังหวัด เชิญประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหารือมาตรการระยะสั้น กลาง ยาว ในการจัดการทุเรียนภาคใต้อย่างเป็นระบบ รวมถึงให้มีการจัดทำมาตรฐาน และแบ่งเกรดคุณภาพทุเรียนให้ชัดเจน เช่น เกรดส่งออก เกรดบริโภคในประเทศ เกรดส่งเข้าโรงงานแปรรูปหรือแช่แข็ง เป็นต้น และขอให้พาณิชย์จังหวัด ร่วมกับผู้ประกอบการ เร่งหาตลาดภายในประเทศ เพิ่มเติม ขอเชิญชวนให้เกษตรกรที่ไม่พร้อมจำหน่ายส่งออกผลสด ให้ส่งผลผลิตเข้าโรงงานทุเรียนแช่แข็ง แปรรูป รวมทั้งเร่งเพิ่มช่องทางจำหน่ายผลสดเพื่อบริโภคในประเทศโดยกรมวิชาการเกษตรจะตรวจสอบ ออกใบรับรองให้เฉพาะผลผลิตทุเรียนที่เป็นไปตามระเบียบที่กรมประกาศตามที่กำหนดในพิธีสารเท่านั้น” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว