จุรินทร์ สั่งรับมือเอลนีโญ ตั้งวอร์รูมเกาะติดผลกระทบข้าว-พืชเกษตร พร้อมทำแผนรับมือ

“จุรินทร์”สั่งตั้งวอร์รูม มีปลัดพาณิชย์เป็นประธาน เกาะติดผลกระทบจากเอลนีโญ ที่มีต่อสินค้าข้าว และพืชเกษตร ทั้งด้านผลผลิต การตลาด ราคา และทำแผนรับมือ เผยล่าสุดราคาข้าวเปลือกขยับแล้ว ข้าวเจ้าทะลุตันละ 12,000 บาท สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ส่วนข้าวถุงยังนิ่ง ย้ำต้องหาจุดสมดุล ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน หรือหากมีผลกระทบก็ต้องน้อยที่สุด  

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต และการตลาดสินค้าเกษตร ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้จัดตั้งวอร์รูม ติดตามสถานการณ์เอลนีโญ ที่ก่อให้เกิดภาวะภัยแล้งต่อโลกและไทย และติดตามการผลิต การตลาด ราคาข้าวและพืชผลการเกษตรอื่น โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานและผู้แทนส่วนราชการ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนและเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม และให้เสนอแนวทางตัดสินใจเรื่องสำคัญต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต่อไป 

%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87
ตั้งวอร์รูมติดตามราคาข้าว

ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ทั่วโลก ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต ราคาและการตลาดของพืชเกษตรทุกตัว โดยเฉพาะสินค้าข้าว และรายงานผลให้กระทรวงพาณิชย์ทราบทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศด้วย

นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับการประเมินผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญ และกรณีอินเดียห้ามส่งออกข้าวข้าวตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2566 ที่จะมีผลกระทบต่อผลผลิตข้าว ตลาดข้าว และราคาข้าว โดยผลกระทบจากเอลนีโญ กรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงว่า สถานการณ์เอลนีโญแบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับอ่อน 0.5-1.0 ระดับปานกลาง 1.0-1.5 และระดับรุนแรง เกินกว่า 1.5  สำหรับไทย ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 0.8 ซึ่งช่วงที่มีสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงตอนปี 2559 อยู่ที่ระดับ 1.2 และกรมชลประทานรายงานว่าปีนี้ ปริมาณน้ำฝนของไทย จะลดลง 5% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 30 ปี และปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้ คาดว่าจะน้อยกว่าปี 2565 ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะมีผลกระทบกับพืชผลการเกษตรที่อยู่ในเขตชนประทาน

ส่วนผลกระทบจากอินเดียห้ามส่งออกข้าวขาว กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า มีสาเหตุจากรัฐบาลอินเดียต้องการให้ราคาข้าวในประเทศลดลง จึงระงับการส่งออก เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น และมีความผันผวน ยังไม่สามารถประเมินราคาได้อย่างชัดเจน แต่ก็เป็นโอกาสในการส่งออกข้าวไปตลาดแอฟริกา ที่เดิมนำเข้าจากอินเดีย เกษตรกรจะขายข้าวเปลือกได้ราคาสูงขึ้น ซึ่งเฉพาะข้าวเจ้า ราคาเพิ่มขึ้นแล้ว 7% สูงกว่าก่อนที่อินเดียจะห้ามส่งออก ส่วนอาหารสัตว์และปศุสัตว์ ต้นทุนจะสูงขึ้น รวมถึงราคาข้าวถุง ที่อาจได้รับผลกระทบ

สำหรับราคาข้าวเปลือกล่าสุด ณ วันที่ 4 ส.ค.2566 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 14,500-16,000 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 12,000-13,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 11,000-12,000 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์แล้ว และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 13,500-14,700 บาท ซึ่งราคาสูงกว่าประกันรายได้แล้ว ส่วนราคาข้าวถุง กรมการค้าภายในรายงานว่า ข้าวหอมมะลิ ถุง 5 กิโลกรัม (กก.) เฉลี่ยปีที่แล้ว 209 บาท ขณะนี้ 210 บาท ข้าวขาว 100% ปีที่แล้วเฉลี่ย 119 บาท ปีนี้ 118 บาท

“ได้สั่งการให้ดูแลราคาข้าวในอนาคต โดยให้หาจุดสมดุล เพราะในขณะที่ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น เกษตรกรได้ประโยชน์มากขึ้น จะส่งผลให้ข้าวสารราคาเพิ่มขึ้น ถ้าแพงเกิน ก็ต้องกำกับควบคุมให้อยู่ในจุดสมดุล ผู้บริโภครับได้ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องอยู่ได้ ให้วินวินทุกฝ่าย ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย และถ้าเสียประโยชน์ให้เสียประโยชน์น้อยที่สุดทุกฝ่าย โดยวอร์รูมมีหน้าที่ต้องไปดูให้เหมาะสม”นายจุรินทร์กล่าว

ทางด้านผลผลิตข้าวเปลือก กรมการข้าว ได้รายงานว่า ปี 2565 มีปริมาณ 34.3 ล้านตัน ปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณ 32.35 ล้านตัน ลดลง ประมาณ 2 ล้านตัน หรือลดลง 5.6% เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และต้องมีการประเมินสถานการณ์ต่อไป ทั้งระดับภัยแล้งจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ และน้ำต้นทุน จะมีเพียงพอเพาะปลูกหรือไม่

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปีนี้มีแนวโน้มเป็นปีทองของเกษตรกร เพราะขณะนี้ข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสด อยู่ที่ตันละ 12,000 บาท ไม่เคยปรากฏ ไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนราคาข้าวตลาดโลก เฉพาะข้าวขาว ขึ้นมาเป็น 100 เหรียญสหรัฐต่อตันแล้ว นับตั้งแต่อินเดียห้ามส่งออก แต่ก็ยังไม่แน่นอน เพราะไม่รู้ว่าอินเดียจะเอายังไงต่อ จะห้ามนานหรือไม่ เพราะแม้จะห้าม ก็ยังเปิดช่องให้หลายประเทศซื้อได้ เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร