วันที่ 7 สิงหาคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ จ. อุทัยธานีติดตามความก้าวหน้า โครงการทดสอบสายพันธุ์กัญชาที่เหมาะสมสำหรับปลูกในโรงเรือนไม่ควบคุมอุณหภูมิ และ ทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพืชสกุลกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการ โดยนำองค์ความรู้ด้านการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน มาประยุกต์ใช้เพื่อลดการใช้สารเคมี โดยเป้าหมายของโครงการวิจัย คือ ได้สายพันธุ์พืชสกุลกัญชา และ เทคโนโลยีการผลิต ที่เหมาะสมในสภาพโรงเรือนที่ไม่ควบคุมอุณหภูมิ (โรงเรือนตาข่าย) การทดสอบประกอบด้วยกัญชาที่กรมวิชาการเกษตรรวบรวมจากทั่วประเทศกว่า 30 สายพันธุ์
งานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปัจจุบัน จ. อุทัยธานี มีแปลงกัญชาได้รับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 2 แปลง รวมพื้นที่ 12 ไร่ ในพื้นที่ อ.ห้วยคด และ อ.ลานสัก โดยทั้งประเทศมีผู้ได้รับการรับรอง GAP พืชสกุลกัญชา 136 แปลง พื้นที่ 434 ไร่ และผู้ได้รับการรับรอง GAP พืชกัญชง 144 ราย พื้นที่ 805 ไร่ รวมพื้นที่พืชกัญชาและกัญชงที่ได้รับการรับรอง GAP พื้นที่ 1,239 ไร่
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร เน้นนโยบายตลาดนำงานวิจัย งานวิจัยจะต้องพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาที่ให้ THC เด่นจะนำไปใช้ทางด้านการแพทย์แผนไทย ในส่วนของ CBD เด่นจะนำไปใช้ สำหรับอุตสาหกรรมสารสกัด และอาหารเสริม
ระบบเทคโนโลยีการผลิตของกรมฯ มี 3 รูปแบบดังนี้ ระบบปิด (indoor) ซึ่งมีการควบคุม อุณหภูมิ ความชื้น และแสง สามารถควบคุม จัดการการผลิตสารสำคัญให้มีคุณภาพสูง ตามมาตรฐานทางการแพทย์ (Medical grade) ระบบโรงเรือนตาข่าย ซึ่งเป็นโรงเรือนที่มีการควบคุมแสง ได้ผลผลิต และมาตรฐานรองลงมา แต่เป็นระบบที่เกษตรนิยมใช้มากที่สุด เนื่องด้วยมีต้นทุนการผลิตไม่สูงมาก ระบบการผลิตแบบกลางแจ้ง สำหรับผลิตกัญชงแบบเส้นใย เมล็ดกัญชงอาหารเสริมแบบโปรตีนสูง รวมถึงน้ำมันกัญชง (Hemp seed oil) อุตสาหกรรมอาหารสัตว์
ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตร สามารถคัดเลือกกัญชาสายพันธุ์เด่น ที่มีสารสำคัญทางการแพทย์ CBD และ THC สูง (DOA 1-10) จำนวน 10 สายพันธุ์ อยู่ระหว่างการปลูกทดสอบ รวมถึงวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในระบบปิด โรงเรือนตาข่าย และ การผลิตแบบกลางแจ้ง
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังมีหน่วยวิจัยการผลิตกัญชาแบบครบวงจร ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ซึ่งประกอบด้วยอาคารปฏิบัติการวิจัยพืชสกุลกัญชาแบบอัตโนมัติ ที่สามารถควบคุมการผลิตสารสำคัญ ให้ตรงตามความต้องการทางการแพทย์อีกทั้งมีการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชที่เหมาะสมต่อการผลิตกัญชาที่ตรงตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทำให้ได้รับองค์ความรู้ การจำแนกระดับคุณภาพของสารสำคัญซึ่งผลิตจากพื้นที่และโรงเรือนที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นคู่มือการปลูก สายพันธุ์ที่เหมาะสมกับตลาดทั้งในประเทศ ต่างประเทศ รูปแบบโรงเรือนและแผนที่ปลูกพืชสกุลกัญชา ที่สามารถให้บริการวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และประชาชนผู้สนใจปลูกกัญชาทางการแพทย์ต่อไป
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อให้การกำกับดูและพืชสกุล กัญชา กัญชง กระท่อมซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ เป็นไปอย่างบูรณาการและครบวงจร กรมวิชาการเกษตรได้จัดตั้งกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 เพื่อรองรับการวิจัย พัฒนา พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่มีแนวโน้มสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น มีความต้องการทางการตลาดทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งการจัดการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบการผลิตพืชและรับรองคาร์บอนเครดิต แบ่งเป็น 4 กลุ่มงานวิจัย คือ 1) กลุ่มวิจัยพืชอนาคต 2) กลุ่มวิจัยพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม 3) กลุ่มวิจัยก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร และ 4) กลุ่มพัฒนาระบบถ่ายทอดเทคโนโลยี