​เห็นแววปีทองราคาข้าว

หลังจากที่ “อินเดีย” ได้ประกาศ “ห้ามส่งออกข้าวขาว” ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา ทำให้ตลาดข้าวโลก “ชะงัก” รอดูสถานการณ์ แต่ “ราคาข้าว” ไม่รอดูด้วย มีแต่ปรับตัว “สูงขึ้น” เรื่อย ๆ

จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลดีต่อ “การส่งออกข้าวไทย” มีแนวโน้ม “เพิ่มขึ้น” อย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะล่าสุด “คำสั่งซื้อข้าว” ได้เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย

แต่แทนที่จะขายได้รัว ๆ “ผู้ส่งออก” หลายราย กลับ “ไม่กล้า” ที่จะรับ “ออเดอร์” เพราะไม่รู้ว่า “ต้นทุนข้าว” จะขยับขึ้นอีกหรือไม่

ไม่เพียงแค่นั้น สถานการณ์ข้าวยังได้รับ “แรงกดดัน” จากปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” ที่ทำให้เกิดภาวะภัยแล้งไปทั่วโลก และมีการ “ประเมิน” กันว่า ผลผลิตข้าวทั่วโลกจะลดลงด้วย

ก็ยิ่งทำให้ “ความต้องการข้าว” เพิ่มขึ้น

ประเทศที่จะได้ “ประโยชน์” จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งอินเดียห้ามส่งออกข้าว และเอลนีโญ ก็คงหนีไม่พ้น “ไทย-เวียดนาม” จึงอยู่ที่ใคร จะ “วางแผนรับมือ” ได้ดีกว่ากัน

ปัจจุบัน “กระทรวงพาณิชย์” โดย “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” และ “นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์” ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง “กรมการค้าต่างประเทศ-กรมการค้าภายใน-ทูตพาณิชย์” ติดตามสถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิดแล้ว

มอบ “กรมการค้าต่างประเทศ” ติดตามสถานการณ์การส่งออกว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไร ประเทศไหนมีความต้องการเพิ่มขึ้น สถานการณ์ด้านราคาส่งออกเป็นอย่างไร

มอบ “กรมการค้าภายใน” ติดตามสถานการณ์สต๊อกในประเทศ ราคาข้าวเปลือกในประเทศ ราคาข้าวถุงในประเทศ

มอบ “ทูตพาณิชย์” ติดตามว่าแต่ละประเทศมีมาตรการและนโยบายในเรื่องข้าวอย่างไร มีความต้องการเพิ่มขึ้นหรือไม่

มี “เป้าหมาย” เพื่อ “ทำแผน” และ “มาตรการ” ในการดูแลเรื่องข้าวของไทย ที่จะต้องให้ความสำคัญทั้ง “การบริโภคในประเทศ” และ “การส่งออกไปต่างประเทศ
         

ส่วนปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” ที่เกิดภาวะภัยแล้งไปทั่วโลก ที่ผ่านมา “กระทรวงพาณิชย์” ได้มีการหารือกับ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันทำ “แผนรับมือ” และป้องกันปัญหา “ผลผลิตข้าว” ลดลงแล้วเช่นเดียวกัน
         

ล่าสุด “กระทรวงพาณิชย์” โดยนายจุรินทร์ ได้นัดประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต และการตลาดสินค้าเกษตร ในวันที่ 7 ส.ค. ซึ่ง “ข้าว” ก็เป็นหนึ่งในรายการที่จะมีการติดตาม ว่า ได้รับ “ผลกระทบ” มากน้อยแค่ไหน และจะมี “มาตรการรับมือ” อย่างไร
         

หากมี “ข้อสรุป” ออกมาแล้ว จะมารายงานให้ทราบกันอีกที
         

กลับมาดูที่ “ราคาข้าว” ขณะนี้ เริ่มเห็นสัญญาณ “ดีดตัวขึ้น” โดยราคา “ข้าวเปลือก” ในประเทศ เริ่มขยับขึ้นทุกชนิด
         

ข้าวเปลือกหอมมะลิ” ตันละ 14,400-15,600 บาท “ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่” ตันละ 13,500-14,000 บาท “ข้าวเปลือกปทุมธานี” ตันละ 11,700-12,500 บาท “ข้าวเปลือกเจ้า” ตันละ 10,800-11,500 บาท และ “ข้าวเปลือกเหนียว” ตันละ 13,000-14,200 บาท
         

ราคา “ทะลุ” เพดานที่ประกันรายได้เอาไว้แล้วทุกตัว
         

ส่วน “ราคาข้าว” ในตลาดต่างประเทศ ผู้ส่งออกให้ข้อมูลว่า ราคา “พุ่งขึ้น” ไปจากเดิม 27-69 เหรียญสหรัฐต่อตัน แล้วแต่ชนิดข้าว
         

ขณะที่ตัวเลข “การส่งออก” ช่วงครึ่งปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) ทำได้แล้วกว่า 4 ล้านตัน

ทั้ง “กระทรวงพาณิชย์” ทั้ง “ผู้ส่งออก” ต่างมอง “ตรงกัน” ว่า ปีนี้ “ปริมาณ 8 ล้านตัน” ทำได้แน่
         

จาก “ปัจจัย” ที่ว่ามาทั้งหมด เห็นได้ชัดว่าเป็น “สัญญาณบวก” ต่อราคาข้าว

ตอนนี้ ราคาข้าวโลกก็เริ่ม “ขยับขึ้น” แล้วจริง ๆ โดย “องค์การอาหารและเกษตร (FAO)” รายงาน “ดัชนีราคาข้าว” พุ่งขึ้นแตะ “ระดับสูงสุด” ในรอบเกือบ 12 ปี

หากถามว่า “ราคาข้าว” ในประเทศของไทย จะ “ไปไงต่อ

เท่าที่ได้รับฟังมา “กระทรวงพาณิชย์” ให้คำมั่นไว้ว่า “ราคายังไม่ขึ้น-ไม่ขาด-มีเพียงพอ

แต่ถ้ามีแนวโน้ม “มีปัญหา” หรือเกิด “ภาวะวิกฤต” ขึ้นมาจริง ๆ  

%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4 %E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B9%82%E0%B8%99
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์

ปลัดกระทรวงพาณิชย์” ได้ย้ำไว้ว่า ถ้าเห็น “สัญญาณ” ความต้องการข้าวที่ “เพิ่มขึ้น” และ “รุนแรงขึ้น” ก็จะมีมาตรการออกมา

มาตรการที่ใช้ จะเริ่มตั้งแต่ “เบา” ไปหา “หนัก” แล้วแต่สถานการณ์ เพราะถ้ายังเป็น “ปกติ” ก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้ “กลไกตลาด” ทำหน้าที่ของมันไป

สุดท้ายแล้ว อาจจะไม่ต้อง “ทำอะไร” เลยก็ได้

เพราะไทยเป็นประเทศ “ผู้ผลิตข้าว” รายสำคัญของโลก มีผลผลิตข้าว “เพียงพอ” เพื่อการบริโภคในประเทศ และ “เหลือ” ที่จะส่งออก

ประเด็นตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ข้าวขาดแคลนหรือข้าวไม่พอแต่อยู่ที่ว่า ไทยจะสามารถ “บริหารจัดการข้าว”ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร โดยที่ทุกฝ่ายได้ “ประโยชน์สูงสุด” ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ส่งออก  

ที่มา-กระทรวงพาณิชย์