กรมส่งเสริมการเกษตร บูรณาการทุกฝ่ายผลักดันให้ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน “ไอ้เรือ” และสายพันธุ์อื่น ๆ ในตำบล ศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ได้มาตรฐาน GAP และพัฒนาเป็นทุเรียนเชิงการค้าขายให้นักท่องเที่ยว โดยศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกร
นางจรัสศรี คำภีรสิงห์ เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ตและสำนักงานเกษตรอำเภอถลาง ได้เข้าให้ความรู้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนโดยตรง เพื่อให้เข้าใจหลักการแปลงใหญ่ว่า เกษตรกรรายย่อยที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน พื้นที่เพาะปลูกอยู่ใกล้กัน จะต้องร่วมกันคิดวางแผน กำหนดเป้าหมาย และพัฒนาการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ การสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่ม และการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการเชื่อมโยงสู่ตลาดและการท่องเที่ยวตามบริบทของพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการทำสวนทุเรียน
รูปธรรมที่เห็นชัดในด้านการลดต้นทุน คือการบำรุงดิน และบำรุงต้นทุเรียนด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ ที่เกษตรกรสามารถผลิตใช้ได้เอง เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงในปัจจุบัน โดยเชื่อมโยงกับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน(ศดปช.) บ้านลิพอน-บางกอก ที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำเรื่องการปรับปรุงดิน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การตัดแต่งกิ่ง การจัดการน้ำ เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มผลผลิต ส่วนการรักษาโรคของทุเรียน และการกำจัดศัตรูพืช ก็แนะนำให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติด้านการรักษาโรค และกำจัดแมลงที่เข้าทำลายผลทุเรียน โดยเชื่อมโยงกับศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการกำจัดศัตรูพืช ถือเป็นองค์กรในชุมชนที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรแปลงใหญ่โดยตรง
ส่วนนโยบายการส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองให้กลายเป็นทุเรียนเชิงการค้านั้นเกษตรจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า เกิดจากหลายภาคส่วนในจังหวัดร่วมกัน เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ สถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (นายณรงค์ วุ่นซิ้ว) ที่เป็นกลไกที่สำคัญในการจูงใจให้เกษตรกรพัฒนาทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองเป็นทุเรียนเชิงการค้า และขับเคลื่อนสู่สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกษตรกร โดยที่ผ่านมามีการส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่เหมาะสมแก่แปลงทุเรียนทั่วทั้งจังหวัดเพื่อยกระดับทุเรียนได้ให้ได้มาตรฐาน GAP ได้ให้มากที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับทุเรียนด้วย
“นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดคัดสรรทุเรียนพันธุ์ดี เพื่อขยายพันธุ์ และเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนให้มีจำนวนมากขึ้น นำไปสู่การมีคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันหลายตำบลในจังหวัดภูเก็ต มีทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองที่เป็นสายพันธุ์ดีที่พร้อมพัฒนาในเชิงการค้าต่อไป เช่น ทุเรียนไอ้เรือ ทุเรียนศรีสุนทร ทุเรียนสาคู ทุเรียนกมลา ทุเรียนกะทู้ และทุเรียนเทพกระษัตรี” เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าว
ด้านนายสุทธิกิตต์ ตามชู ประธานแปลงใหญ่ตำบลศรีสุนทร กล่าวว่า ตำบลศรีสุนทรเป็นแหล่งผลิตทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่อร่อย ได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั้งในชุมชนและนอกชุมชน โดยปี 2564 ได้มีการรวบรวมสมาชิกเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เป็นแปลงใหญ่ มีสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอถลาง และหน่วยงานอื่น ๆ คอยเป็นพี่เลี้ยง พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต และอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ระบบน้ำ เพื่อให้ทุเรียนได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ และลดการจ้างแรงงานคน และเชื่อมโยงไปยังศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) และเครือข่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดประกวดคัดสรรทุเรียนพื้นเมืองสายพันธุ์ดี เพื่อพัฒนาเป็นสินค้า GI ในการเพิ่มมูลค่าให้กับทุเรียน เช่น ทุเรียนไอ้เรือ ที่เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกในสวนของตน และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 โดยทุเรียนไอ้เรือ มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีผลใหญ่ ทรงรี เปลือกสีเขียวอมน้ำตาล รสชาติหวาน มัน กรอบอร่อย เนื้อหนา เส้นใยน้อย กลิ่นหอมอ่อนๆ มีพูสมบูรณ์ เนื้อสีเหลืองเข้ม ได้รับการยอมรับจากนักชิมและนักท่องเที่ยวว่าอร่อยไม่แพ้ทุเรียนสายพันธุ์อื่น
“สำหรับเทคนิคที่ทำให้ทุเรียนมีคุณภาพ และพัฒนาเป็นทุเรียนเชิงการค้านั้น เกิดจากความเหมาะสมของพื้นที่ ภูมิปัญญาและการแนะนำจากเจ้าหน้าที่ เช่น การปรับความเป็นกรด-ด่างของดินให้เหมาะสม การใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ให้ถูกช่วงเวลา และถูกวิธี การห่มดิน โดยใช้เศษวัชพืชคลุมดินในแปลงเพื่อรักษาความชื้นในฤดูแล้ง การให้น้ำให้เหมาะสมกับระยะพัฒนาการของดอกและผลทุเรียน การขุดสระเก็บน้ำในแปลงเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น การจัดการศัตรูพืช เช่น แมลงต่าง ๆ หนู และกระรอก และการตัดแต่งทรงพุ่มเพื่อให้แสงแดดส่องทั่วถึงและอากาศถ่ายเทได้ดี ทั้งหมดคือเทคนิคที่ทำให้ทุเรียนมีคุณภาพจนเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค” ประธานแปลงใหญ่ตำบลศรีสุนทร กล่าว
ด้านนายอาเจน รัศมี รองประธานศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) บ้านลิพอน-บางกอก ตำบลศรีสุนทร กล่าวว่า บ้านลิพอน-บางกอก เป็นแหล่งผลิตพืชผัก พืชไร่และไม้ผลไม้ยืนต้นที่สำคัญหลายชนิด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรดภูเก็ต และพืชผักพื้นบ้าน ในอดีตที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการจัดตั้ง ศดปช.ชาวบ้านและสมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่นิยมซื้อปุ๋ยเคมีตามท้องตลาด ทำให้มีต้นทุนสูงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และเกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจการจัดการดิน น้ำ และปุ๋ย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพ ทำให้ปริมาณและคุณภาพผลผลิตไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จึงเกิดแนวคิดในการรวมกลุ่มกันและระดมทุน รวมเงินกันซื้อเครื่องผสมปูนเพื่อผสมปุ๋ยเคมีใช้เองในกลุ่ม ซึ่งเป็นการเริ่มต้นใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
และเมื่อสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต และสำนักงานเกษตรอำเภอถลาง ทราบถึงความต้องการของกลุ่ม จึงได้ลงพื้นที่จัดเวทีร่วมกับชุมชนและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ส่งเสริมและจัดตั้งเป็น ศดปช. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 30 คน และได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร ให้จัดบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน โดยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน แม่ปุ๋ย 12 ตัน และเครื่องผสมปุ๋ย นอกจากนี้สถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ตได้ให้การสนับสนุนโรงเรือนปุ๋ย โดโลไมท์ และวัสดุทำปุ๋ยอินทรีย์ พร้อมเริ่มให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินและให้ความรู้การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน แก่สมาชิก ศดปช. เครือข่าย และผู้สนใจจนถึงปัจจุบัน