ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ช่วงฤดูฝนของประเทศไทย (กรกฎาคม – สิงหาคม 2566) เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง สลับแล้ง กรมส่งเสริมการเกษตรขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรทั่วประเทศ หมั่นสำรวจแปลงปลูก กำจัดศัตรูพืช และบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการทำการเกษตรของตนเอง เพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย
นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ที่อาจส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตรเฝ้าระวัง พร้อมแจ้งสถานการณ์ให้เกษตรกรได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง และให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติดูแลแปลงปลูก บำรุงต้นพันธุ์ บริหารจัดการน้ำ และเฝ้าระวังศัตรูพืช เพื่อให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งได้มีการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานท้องที่ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการ เฝ้าระวังและป้องกันปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งหากเกษตรกรต้องการข้อมูล คำแนะนำ หรือจะติดตามสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมการเกษตร หรือสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอใกล้บ้านท่าน
สำหรับเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวน้ำหอม และผู้ประกอบการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมในอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้คำแนะนำ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจในเรื่องสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง สลับแล้ง และการรับมือปัญหาอย่างเร่งด่วน ด้วยมะพร้าวน้ำหอมคือ 1 ในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีแหล่งผลิตและส่งออกมากที่สุดอยู่ในอำเภอดำเนินสะดวก อำเภอเมืองราชบุรี และอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี รวมกว่า 89,000 ไร่ โดยมีประเทศจีนเป็นคู่ค้าสำคัญรายใหญ่ มีความต้องการรับซื้อผลผลิตมากถึง 70% อีกทั้งมะพร้าวน้ำหอมของไทยนั้น มีความหอมหวาน รสชาติดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในจีน การรักษาคุณภาพของสินค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า ด้วยสภาพอากาศที่แปรปวน เกษตรกรจึงต้องระมัดระวังในเรื่องอุณหภูมิที่เหมาะสม และการเปลี่ยนแปลงอุณภูมิอย่างกะทันหัน ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสมกับความต้องการของมะพร้าวน้ำหอมอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส และหากอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 34 องศาเซลเซียส ติดต่อกันจะส่งผลต่อพัฒนาการของจั่นมะพร้าว ผสมไม่ติดหรือหลุดร่วงได้ง่าย เกษตรกรจึงควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 2 วันต่อครั้ง โดยอาจใช้วิธีนำน้ำในร่องสวนขึ้นมารด หรือการพ่นสปริงเกอร์ หรือละอองฝอยเพื่อลดอุณภูมิของดินและเพิ่มความชื้นในแปลง และแม้วิธีการปลูกมะพร้าวจะมีการยกร่อง หากขาดน้ำในระหว่างที่ผลกำลังเจริญเติบโต อาจทำให้การเจริญเติบโตของผลหยุดชะงัก และผลแตก คุณภาพของผลผลิตต่ำกว่ามาตรฐานการส่งออกได้ ดังนั้นการมีแหล่งน้ำที่เพียงพอตลอดทั้งปีก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ หากเกษตรกรมีการขุดลอกร่องน้ำให้เป็นประจำ เพื่อเพิ่มปริมาณในการกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นจะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยรับมือปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงแล้งนี้ต่อเกษตรกรได้