พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อไทยเดือน มิ.ย. ที่เพิ่มขึ้น 0.23% ต่ำสุดอันดับ 4 ของโลก หลังราคาสินค้าชะลอตัวลงต่อเนื่อง ส่วนปุ๋ยเคมี ที่เป็นปัจจัยการผลิตภาคการเกษตร ราคาลด ยูเรียลงแรงถึง 53% แต่ข้าว มัน ปาล์ม ข้าวโพด ราคาดีขึ้น รวมถึงผลไม้ ที่ปีนี้เป็นปีทองของชาวสวน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.2566 เพิ่มขึ้น 0.23% ต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย.2564 และยังชะลอตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน เมื่อเทียบกับอาเซียน เดือน พ.ค. และ มิ.ย. ต่ำที่สุดในอาเซียน เมื่อเทียบกับโลก เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ต่ำที่สุดในโลก เป็นอันดับที่ 6 เทียบกับ 137 ประเทศทั่วโลก และเดือน มิ.ย. เงินเฟ้อของไทยต่ำที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกเทียบกับ 49 ประเทศในโลก (หลายประเทศตัวเลขเงินเฟ้อยังไม่ออก) ถือว่าไทยสามารถรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดีที่สุดเป็นลำดับ 4 ของโลก ทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีนี้ เปลี่ยนจากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.2% เหลือเพียง 1.5% ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลก
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง เพราะราคาสินค้าที่เป็นหมวดอาหารชะลอตัวต่อเนื่อง ราคาอาหารเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง จาก 6.42% ในเดือนมิ.ย.2565 เป็นเพิ่ม 3.37% ในเดือน มิ.ย.2566 และหมวดที่ไม่ใช่อาหาร จากเดือน มิ.ย.2565 เพิ่ม 8.49% เดือน มิ.ย.2566 ลดลง 1.88% เช่น ราคาน้ำมัน ลด 16.03% เครื่องใช้ไฟฟ้าของใช้ในบ้าน ปีที่แล้ว เพิ่ม 6.79% ปีนี้เพิ่ม 2.04% ส่งผลให้ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคของคนไทยทั้งประเทศ อยู่ในระดับที่ลดลงมาโดยต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่จำเป็นต่อการบริโภค เช่น หมูเนื้อแดง (9 ก.ค.2566) ราคาเฉลี่ย 136 บาท/กิโลกรัม (กก.) ในห้างสำคัญ เช่น แม็คโคร ล่าสุด 107-109 บาท/กก. ลดลง 27% ราคาไก่ ลดลง 6% ผักหลายตัวราคาก็ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ต้นหอม ลดลง 31% ผักชี ลดลง 38% พริกขี้หนูจินดา ลดลง 22% น้ำมันปาล์ม ลดลง 25% น้ำมันถั่วเหลือง ลดลง 12% ผักกวางตุ้ง ลดลง 8% ผักบุ้งจีน ลดลง 5% เป็นต้น
นอกจากนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลกับเกษตรกร คือ ราคาปุ๋ยเคมี ก็ปรับลดลงมากจากช่วงที่มีราคาสูง เช่น ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งใช้เยอะมาก เป็นแม่ปุ๋ยสำคัญ จาก 1,600 บาท/กระสอบ เหลือเฉลี่ย 760 บาท/กระสอบ ลดลง 53% ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ที่ใช้มากสำหรับชาวสวนปาล์ม จาก 1,050 บาท/กระสอบ เหลือ 520 บาท/กระสอบ ลดลง 50% ปุ๋ยฟอสเฟต เร่งดอกจาก 1,900 บาท/กระสอบ เหลือ 1,200 บาท/กระสอบ ลดลง 37% ปุ๋ยโพแทสเซียม เร่งผล ราคาลดลง 37% ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จาก 1,475 บาท/กระสอบ เหลือ 1,100 บาท/กระสอบ ลดลง 25% ปุ๋ยข้าว สูตร 16-20-0 ลดลงจาก 1,200 บาท/กระสอบ เหลือ 930 บาท/กระสอบ ลดลง 23% เป็นต้น
ส่วนราคาพืชผลการเกษตร ก็ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ล่าสุดข้าวหอมมะลิทั้งในและนอกพื้นที่ ข้าวเปลือกปทุม ที่ความชื้น มาตรฐานไม่เกิน 15% สัปดาห์นี้อยู่ที่ 11,400-11,900 บาท/ตัน สูงกว่าราคาที่ประกันมาหลายเดือนแล้ว ข้าวเปลือกเจ้าเกวียนละ 10,300-10,900 บาท/ตัน สูงกว่าราคาที่ประกันที่ 10,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียว 12,800-13,600 บาท/ตัน สูงกว่าราคาประกันที่ 12,000 บาท/ตัน มันสำปะหลังราคาสูงกว่าราคาที่ประกัน ปัจจุบัน 3.15-3.55 บาท/กก. จากราคาประกันที่ 2.50 บาท/กก. ปาล์มน้ำมัน ประกันที่กิโลกรัมละ 4 บาท ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.60-6.70 บาท ที่อัตราน้ำมัน 18% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาประกัน 8.50 บาท/กก. ขณะนี้ราคา 10.90-11.50 บาท/กก. และพืชสามหัวสด ราคาดีขึ้นมากสำหรับปีนี้ หอมหัวใหญ่ปีที่แล้วเฉลี่ย กก.ละ 12.31 บาท ปีนี้ 16 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 36% หอมแดง ปีที่แล้วเฉลี่ย 9.50 บาท/กก. ปีนี้ 13 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 37% กระเทียมปีที่แล้ว 14 บาท/กก. ปีนี้ 20 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 43%
สำหรับราคาผลไม้ ปีนี้ถือเป็นปีทองของเกษตรกร โดยทุเรียนภาคตะวันออกหมดฤดูไปแล้ว ทุเรียนเกรด AB ส่งออก ปีที่แล้ว 143 บาท/กก. ปีนี้ 166 บาท/กก. สูงขึ้น 16% เกรด C ปีที่แล้ว 93 บาท/กก. ปีนี้ 127 บาท/กก. สูงขึ้น 37% มังคุดเกรดส่งออก ปีที่แล้ว 61 บาท/กก. ปีนี้ 100 บาท/กก. สูงขึ้น 64% เงาะโรงเรียน ปีที่แล้ว 18 บาท/กก. ปีนี้ 38 บาท/กก. สูงขึ้น 111% และผลไม้ภาคใต้ปีนี้ที่ออกไปแล้วครึ่งหนึ่ง ราคาดีมาก จากมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา เช่น ทุเรียน เกรด AB ส่งออก ปีที่แล้ว 110 บาท/กก. ปีนี้ 140-150 บาท/กก. สูงขึ้น 25% ทุเรียนเกรดตกไซด์ ปีที่แล้ว 64 บาท/กก. ปีนี้ 90-100 บาท/กก. สูงขึ้น 48% มังคุดเกรดส่งออกปีที่แล้ว 37 บาท/กก. ปีนี้ 75-134 บาท/กก. สูงขึ้น 182% เงาะโรงเรียนปีที่แล้ว 26 บาท/กก. ปีนี้ 33-35 บาท/กก. สูงขึ้น 31% มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดส่งออก ปีที่แล้ว 45 บาท/กก. ปีนี้ 50 บาท/กก. สูงขึ้น 11% โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้เกรดคละราคาสูงขึ้นเยอะจาก กก.ละ 20 บาท เป็น 30 บาท/กก. สูงขึ้น 50% มะม่วงมันคละ ปีที่แล้ว 6 บาท/กก. ปีนี้ 10 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 67%
“สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด สามารถควบคุมกำกับดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่อง 2 เดือนแล้ว อย่างน้อยช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ถือว่าต่ำที่สุดเป็นลำดับ 4 ของโลก ถือว่าเราทำได้ดีอย่างยิ่ง ส่งผลให้ภาวะราคาสินค้าทั้งหมด ทั้งอาหารและไม่ใช่อาหาร อยู่ในระดับที่ต่ำลง ส่วนราคาปุ๋ย ก็ถูกลงเยอะมาก ขณะที่ราคาพืชผลการเกษตรทุกตัวราคาดีขึ้น ถือว่าปีนี้จะเป็นปีทองของเกษตรกรอีกปี”นายจุรินทร์กล่าว