นางอมรรัตน์ สว่างลาภ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตร จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงการนำนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร ไปส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นเกษตรแปลงใหญ่ว่า ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเกษตรแปลงใหญ่ทั้งหมด 199 แปลง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.7 แสนไร่ มีแปลงใหญ่ด้านพืชสมุนไพร จำนวน 2 แปลง คือ แปลงใหญ่กระวาน และแปลงใหญ่จันทน์เทศ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอร่อนพิบูลย์ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564
สำหรับกระวาน เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง นิยมนำมาทำเป็นเครื่องเทศสำหรับเพิ่มรสชาติและกลิ่นหอมให้อาหารและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำพริก ยาหม่อง ยาดม สเปรย์ไล่ยุง เจลล้างมือ และสบู่สมุนไพร พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขาภายในชุมชนป่าอนุรักษ์พื้นที่ตำบลหินตก โดยกระวานจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีกลิ่น และความเผ็ดร้อนกว่ากระวานจากภาคอื่น ๆ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งต้น ทั้งหน่อ เมล็ด ไปจนถึงกาบใบที่นำไปทำน้ำยาล้างจาน และยาหม่อง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 480 กิโลกรัม/ไร่/ปี โดยกลุ่มแปลงใหญ่กระวาน มีสมาชิก 32 ราย พื้นที่ปลูกประมาณ 279 ไร่ ทั้งนี้เมล็ดกระวานเป็นเครื่องเทศที่มีความต้องการสูงในต่างประเทศ หากสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้จำนวนมาก อีกทั้งยังสามารถสนับสนุนให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Gl) ได้อีกด้วย
ส่วนจันทน์เทศ จัดเป็นพืชพื้นถิ่นของอำเภอร่อนพิบูลย์และพบมากในภาคใต้ จากข้อมูลระบุว่ามีการปลูกจันทน์เทศในพื้นที่อำเภอร่อนพิบูลย์ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับการอนุรักษ์สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณ แก้ไข้ ขับลม คลื่นไส้อาเจียน แก้ร้อนใน และบำรุงโลหิต โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพการผลิต และแปรรูป โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวของทั้งภาครัฐและเอกชน จนมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลูกจันทน์เทศจำนวนมาก ได้แก่ จันทน์เส้น จันทน์แช่อิ่ม จันทน์ดอกลอยแก้ว จันทน์แช่อิ่ม และน้ำลูกจันทน์ ซึ่งทั้งหมดเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดนครศรีธรรมราช สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกจันทน์เทศ เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จากนั้นจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน และเป็นแปลงใหญ่ในปี 2564 ปัจจุบันมีสมาชิก 76 ราย พื้นที่ปลูกประมาณ 278 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 3,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี มีการจำหน่ายจันทน์เทศในรูปแบบผลสด และแปรรูปโดยการแช่อิ่ม และตากแห้ง
ทั้งนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช และสำนักงานเกษตรอำเภอร่อนพิบูลย์ ได้เข้าไปสนับสนุนในด้านต่าง ๆ แก่ทั้ง 2 แปลงใหญ่ ประกอบด้วย 1.ด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน GAP 2.การลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ 3.การบริหารจัดการกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง 4. ส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการบรรจุภัณฑ์ 5.ส่งเสริมด้านการตลาด โดยสนับสนุนให้เกษตรกรนำผลผลิตและผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดงและจำหน่ายในงานต่าง ๆ
ด้านนางสาวธิติรัตน์ บุญเต็ม เกษตรอำเภอร่อนพิบูลย์ กล่าวว่า สำนักงานเกษตรอำเภอร่อนพิบูลย์ ได้สร้างการมีส่วนร่วม และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับแปลงใหญ่สมุนไพรทั้ง 2 แปลง พร้อมกับการอนุรักษ์พืชพื้นถิ่น ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยหมัก เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น ทั้งนี้แปลงใหญ่กระวาน เป็นสมุนไพรประจำถิ่นของบ้านเขาวัง ตำบลหินตก ถือเป็นแหล่งปลูกกระวานที่ใหญ่ระดับประเทศ ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาผลผลิตต่อไร่ลดลง จึงได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนด้านต่าง ๆ จนปัจจุบันมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ส่วนแปลงใหญ่จันทน์เทศ ที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาเรื่องโรคเชื้อรา จึงเข้าไปส่งเสริมให้ใช้สารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ จนปัญหาคลี่คลายได้ในระดับหนึ่ง
ขณะที่นายอนุรัตน์ บุญพล ประธานแปลงใหญ่กระวาน และวิสาหกิจชุมชนกระวานบ้านเขาวัง ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ กล่าวว่า ชุมชนบ้านเขาวัง เริ่มใช้ประโยชน์จากกระวานตั้งแต่ 40-50 ปีก่อน ซึ่งชาวบ้านจะเก็บเอาหน่อ และลูกกระวานไปขาย ต่อมาจึงได้เริ่มปลูกกระวานในพื้นที่สวนไม้ผล หรือสวนเกษตรผสมผสาน และเมื่อปี 2564 ทางเกษตรอำเภอร่อนพิบูลย์ ได้เข้ามาส่งเสริมจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ โดยมีเป้าหมายให้เกิดการลดต้นทุน เพิ่มผล และใช้ปุ๋ยชีวภาพเป็นหลัก พร้อมส่งเสริมด้านการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ทำให้ปัจจุบันกลุ่มมีผลิตภัณฑ์กระวานแปรรูปในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำพริกจากหน่อกระวาน ซึ่งกำลังได้รับความนิยม นอกจากนี้ยังมีสบู่ สเปรย์ล้างมือ ยาหม่อง ยาดม ซึ่งทำมาจากส่วนลำต้นที่ได้จากการแกะหน่ออ่อนขาย ขณะนี้กลุ่มกำลังทดลองการผลิตชาจากใบกระวาน และนำส่วนต่างๆของกระวาน มาใช้ให้เกิดประประโยชน์สูงสุด
“จุดเด่นของกระวานบ้านเขาวัง คือมีลักษณะสีขาว กลิ่นหอมเฉพาะ แตกต่างจากกระวานที่อื่นๆ ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มมีรายได้ ประมาณ 12,000-15,000 บาทต่อเดือน โดยเป็นรายได้ประจำวันจากการจำหน่ายหน่อกระวานสด ซึ่งจะมีแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ ในราคามัดละ 5 บาท (3-4 หน่อ/มัด) ทำให้เกษตรกรมีรายได้ 500-600 บาท/วัน ส่วนผลกระวานตากแห้ง ได้จำหน่ายให้กับร้านยาแผนโบราณ และแม่ค้าเครื่องแกง ราคากิโลกรัมละ 750-800 บาท ขณะที่เมื่อเร็วๆนี้ได้มีโรงพยาบาลของรัฐ มาติดต่อเพื่อสั่งซื้อลูกกระวานนำไปใช้เป็นยาสมุนไพร ซึ่งทางกลุ่มเตรียมที่จะขยายการปลูกเพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับสมาชิกเพิ่มขึ้น” นายอนุรัตน์ กล่าว
เช่นเดียวกับนายวีระ เจริญชน ประธานแปลงใหญ่จันทน์เทศ บ้านสวนจันทน์ ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ กล่าวว่า จุดเด่นของจันทน์เทศ ในพื้นที่บ้านสวนจันทน์ จะมีรสชาติกลมกล่อม ไม่ฝาดหรือขม เหมือนที่อื่น ๆ โดยในปี 2564 ทางเกษตรอำเภอร่อนพิบูลย์ ได้เข้ามาส่งเสริมเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง ให้ความรู้และวิธีกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อรา แนะนำการเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน โดยเน้นให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี สามารถลดต้นทุนจากเดิม 20 บาท/กิโลกรัม เป็น 15 บาท/กิโลกรัม และเพิ่มผลผลิตจาก 2,500 กิโลกรัม/ไร่/ปี เป็น 3,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี พร้อมส่งเสริมการแปรรูป โดยการแปรรูปด้วยการตากแดดเป็นวิธีที่ดีที่สุด ทำให้ไม่เกิดความชื้นและน้ำตาลไม่ละลาย ปัจจุบันมีออเดอร์ผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มมากขึ้น มีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย และจีน นอกจากนี้ยังมีคำสั่งซื้อเพื่อใช้ทำยาสมุนไพร เช่น เยื่อหุ้มเมล็ดตากแห้ง เมล็ดตากแห้ง และดอกจันทน์เทศตากแห้ง ทำให้สมาชิกมีรายได้หลักหมื่นบาทต่อเดือน
“ในอนาคตทางกลุ่มเตรียมต่อยอดผลิตภัณฑ์แปรรูปลูกจันทน์เทศ โดยเน้นเจาะกลุ่มตลาดอาหารและเครื่องดื่มสำหรับพระภิกษุสงฆ์ เนื่องจากลูกจันทน์เทศ มีสรรพคุณยารักษาโรค ซึ่งไม่ผิดหลักพระธรรมวินัย ทำให้พระสงฆ์ สามารถฉันได้ในยามวิกาลในรูปแบบของน้ำปาณะ หรือแช่อิ่ม” ประธานแปลงใหญ่จันทน์เทศ บ้านสวนจันทน์ กล่าว
ปัจจุบันสมุนไพรกระวาน และจันทน์เทศ เป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่กรมส่งเสริมการเกษตร เข้าไปสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง มีผลผลิตภัณฑ์คุณภาพออกสู่ท้องตลาด จนมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศจำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับสมาชิกทั้ง 2 แปลงใหญ่สมุนไพรได้อย่างเพียงพอและยั่งยืน