ความคืบหน้ากรณีนายสมัย สุยคำไฮ เกษตรกรชาวสวนทุเรียน จังหวัดศรีสะเกษ ได้ออกมายืนยันว่า เขาไม่ได้เป็นผู้ส่งใบรับรอง GAP ทุเรียน ให้กับกลุ่มที่ถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วจับกุมและจากเอกสารไม่ใช่ลายมือของเขาเบอร์โทรก็ไม่ใช่รวมทั้งทุเรียนชุดที่ถูกจับ ไม่ใช่ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษของเขาแน่นอนส่วนทุเรียนที่เขาขายให้กับล้งก่อนหน้านี้ ได้ส่งสำเนาใบ GAP ไปด้วย แต่ไม่ได้ขีดคร่อมตัวหนังสือ
กรณีได้สร้างความตื่นตัวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน และกลุ่มผู้ขายทุเรียน ที่เชื่อว่ามีขบวนการถ่ายสำเนาใบ GAP ขายต่อๆ กันไป เพื่อนำไปใช้ในการสวมเป็นทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เพื่อให้ขายได้ราคาดี และส่งออกได้
ข้อมูลจาก สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ คาดการณ์ว่า ปีนี้ ทุเรียนภูเขาไฟจะให้มีผลผลิตกว่า 1 หมื่น 3 พันตัน และเป็นปีแรกที่มีล้งถึง 6 แห่ง เข้ามาเปิดรับซื้อและปิดตู้คอนเทนเนอร์ในพื้นที่เพื่อเตรียมส่งออก เนื่องจากตลาดจีนมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งทุเรียนภาคใต้และภาคตะวันออกมีผลผลิตลดน้อยลงจากสภาพอากาศแปรปรวน รวมทั้งภัยแล้ง ทำให้มีแนวโน้มว่าทุเรียนภูเขาไฟจะถูกซื้อเพื่อส่งออกเพิ่มมากขึ้น
โดยทุเรียนที่จะส่งออกได้นั้นต้องมาจากสวนที่เกษตรกรได้ใบรับรองมาตรฐาน GAP โดยจังหวัดศรีสะเกษมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน 2,350 ราย แต่ได้รับการขึ้นทะเบียน GAP เพียง 717 คน หรือ พื้นที่เกือบ 4,500 จากทั้งหมด 9,000 กว่าไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 50
ความต้องการทุเรียนส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้จังหวัดศรีสะเกษ เร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรรับมือปัญหาการนำทุเรียนต่างประเทศมาสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทยเพื่อส่งออก รวมทั้งขบวนการซื้อขายหรือสวมใบ GAP แม้ตอนนี้จะยังไม่พบปัญหาในพื้นที่ก็ตาม แต่ต้องเฝ้าระวัง เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของทุเรียนภูเขาไฟที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
ข้อมูลจากนายชลธี นุ่มหนู อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการซื้อขายใบ GAP เพื่อสวมสิทธิ์ทุเรียน พบมากในภาคใต้ มีการพูดคุยในกลุ่มไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย โดยมีผู้ที่อ้างว่าผู้ส่งออกทุเรียนจะขอซื้อใบ GAP ใบละ 5,000-20,000 บาท แต่ภาครัฐไม่เคยตรวจจับได้
รองลงมาคือภาคตะวันออก ซึ่งมีการแก้ไขโดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปส่งเสริมเกษตรกร และออกใบรับรอง GAP อย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกแปลง สำหรับภาคอีสานหากมีการส่งออกทุเรียนมากขึ้นก็จะพบปัญหานี้ตามมาเช่นกัน เกษตรกรต้องระมัดระวัง โดยเมื่อต้องถ่ายสำเนาใบรับรอง GAP ให้ผู้ประกอบการ หรือ ล้ง ต้องขีดค่อมตรงที่เป็นตัวหนังสือ แล้วเขียนรายละเอียด เช่น ชื่อ-นามสกุล ขายทุเรียน จำนวนเท่าไหร่ ให้ใคร ช่วงวันที่ใด ระบุให้ชัดเจน ไม่ควรเขียนรายละเอียดในสำเนาตรงที่เป็นพื้นที่ว่าง เพราะสามารถลบข้อความได้ และ เจ้าของใบ GAP ไม่ควรส่งฉบับจริงให้ผู้ประกอบการ ต้องถ่ายสำเนา ขีดค่อม เขียนรายละเอียดให้ชัดเจน เนื่องจากขั้นตอนการซื้อขายใบ GAP จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ และเป็นการซื้อกันเองระหว่างล้ง หรือ ผู้ส่งออก ไม่ได้ซื้อจากเกษตรกร เพื่อนำไปใช้ในการสวมทุเรียนจากแปลงอื่นเพื่อส่งออก ซึ่งหากเป็นทุเรียนภายในประเทศและคุณภาพดียังพอรับได้ แต่หากเป็นทุเรียนต่างประเทศคุณภาพต่ำ จะส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นทุเรียนไทยของผู้บริโภค
ทั้งนี้อดีตมือปราบทุเรียนอ่อนยังเปิดเผยว่า “เมื่อ 2 ปีก่อน จนท.ท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ปลอมลายเซ็นต์ “ชลธี นุ่มหนู” ในใบ GAP หลายสิบใบนำไปขายต่อ แจ้งความแล้ว คดียังไม่คืบหน้า”
“เรื่องเล่าข่าวเกษตร” จะเกาะติดเรื่องปลอม GAP มานำเสนอครั้งหน้า
งานนี้มีแฉ!!!!