ท่านทราบหรือไม่ว่า…. “จีน” เป็นประเทศผู้ผลิตและบริโภคผลไม้มากที่สุดในโลก ช่วง 10 ปีมานี้ การบริโภคผลไม้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของชาวจีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน จาก 22.2 กิโลกรัมในปี 2545 เพิ่มเป็น 52.7 กิโลกรัมในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 137.39%
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า… ส่วนหนึ่งของผลไม้ที่ชาวจีนนิยมบริโภคเป็นผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนจากชาติสมาชิกอาเซียน โดยชนชั้นกลางที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมถือเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนการบริโภคผลไม้นำเข้า ซึ่งได้สร้างโอกาสในการค้าผลไม้ รวมถึงประเทศไทยด้วย
นับตั้งแต่ปี 2561 ประเทศจีนเริ่มเสียดุลการค้าผลไม้ให้กับต่างประเทศ และมีแนวโน้มเสียดุลเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่า จีนมีการนำเข้าผลไม้มากกว่าการส่งออกไปต่างประเทศ
ข้อมูลปี 2565 ระบุว่า จีนนำเข้าผลไม้ 7.29 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.34% จากปีก่อนหน้า (YoY) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 14,525 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.47% (YoY) ราคานำเข้าเฉลี่ย (ราคา CIF) อยู่ที่ตันละ 1,989 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.92% (YoY) โดยในแง่มูลค่านำเข้า พบว่า “ทุเรียน” ครองแชมป์ในตลาดจีน ตามด้วยเชอร์รี่ กล้วยหอม และมังคุด
ขณะที่การส่งออกผลไม้ มีปริมาณ 3.25 ล้านตัน ลดลง 7.98% (YoY) มูลค่าการส่งออก 4,621 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 14.76% (YoY) ราคาส่งออกเฉลี่ย (ราคา FOB) อยู่ที่ตันละ 1,417.58 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.37% (YoY) โดยในแง่มูลค่าส่งออก พบว่า “แอปเปิ้ล” ครองแชมป์ผลไม้ส่งออกของจีน ตามด้วยองุ่น ส้ม และสาลี่
เซ่ เสี่ยนเผิง (Xie Xianpeng/谢显鹏) นายตรวจประจำหน่วยควบคุมตรวจสอบ 1 ศุลกากรด่านโหย่วอี้กวาน (Youyiguan Border Gate/友谊关口岸) ให้ข้อมูลว่า ภายหลังจากที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ มีผลไม้จากชาติอาเซียนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มเติมหลายชนิด อาทิ ลำไยกัมพูชา กล้วยหอมเมียนมา ทุเรียนเวียดนาม สับปะรดอินโดนีเซีย เสาวรสเวียดนาม ทุเรียนฟิลิปปินส์ ส้ม สปป.ลาว และขนุนมาเลเซีย
ชนิดผลไม้ที่ได้รับอนุญาตการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความถึง โอกาสและปริมาณการนำเข้าผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างในด่านโหย่วอี้กวาน ซึ่งเป็นด่านนำเข้าผลไม้ที่สำคัญของจีน พบว่า นับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2565 ที่ ‘ทุเรียนญวน’ ล็อตแรกเข้าสู่ประเทศจีนผ่านด่านโหย่วอี้กวานจนถึงปัจจุบัน มีการนำเข้าทุเรียนเวียดนามมากกว่า 72,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2,380 ล้านหยวน หรือราวๆ 11,600 ล้านบาท
คุณหลี่ หวินจื้อ (Li Wenzhi/李文志) ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจ บริษัท Wanchengxi (Guangxi) International Trade Co.,Ltd. (万成喜(广西)国际贸易有限公司) เปิดเผยว่า บริษัทฯ นำเข้าทุเรียนเวียดนามเป็นหลัก นับตั้งแต่ที่ทุเรียนเวียดนามได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปจีน บริษัทฯ นำเข้าราว 1,200 ตู้ คิดเป็นน้ำหนักเกือบ 21,500 ตัน ช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูของทุเรียนทางภาคตะวันออกของไทย ซึ่งปริมาณทุเรียน(ไทย)เริ่มน้อยลงแล้ว เป็นช่วงรอยต่อพอดีกับหน้าทุเรียนของประเทศเวียดนาม ซึ่งผลผลิตกำลังออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก
“ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 – เมษายน 2566 ผลไม้จากอาเซียนที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวานเขตปกครองตนเองกว่างซี มีปริมาณรวม 5.38 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 11,580 ล้านหยวน”
คุณเซ่ฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภายใต้เงื่อนไขที่ด่านศุลกากรจำเป็นต้องดำเนินมาตรการตรวจกักกันศัตรูพืชที่เข้มงวดเพื่อสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยของผลไม้นำเข้า ขณะเดียวกันก็ต้องให้ผลไม้นำเข้าคงความสดใหม่ เพื่อให้การปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับผลไม้นำเข้ามีประสิทธิภาพรวดเร็ว และผลไม้ยังคงคุณภาพที่ดี ศุลกากรได้พัฒนาโซลูชันการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกและร่นเวลาของผลไม้ที่ด่าน
อาทิ นโยบายการให้สิทธิสำหรับผลไม้สดผ่านเข้าด่านก่อน การจัดช่องทางเฉพาะสำหรับผลไม้สดและช่องจอดเฉพาะสำหรับรถบรรทุกผลไม้สดที่ต้องสุ่มตรวจสินค้า การจัดทีมเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจในการสุ่มตรวจสินค้า การพัฒนากลไกการตรวจพิสูจน์และคัดกรองศัตรูพืชแบบด่วนซึ่งเป็นการบูรณาการทำงานภายใต้โมเดล “ศูนย์(เทคนิค) + หน้างาน” กล่าวคือ การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่หน้าด่าน ควบคู่ไปกับการดำเนินตรวจสอบผ่านระบบตรวจพิสูจน์ผ่านทางไกลกับระบบตรวจวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญผ่านทางไกลโดยศูนย์เทคนิคศุลกากรหนานหนิง (โมเดลดังกล่าวใช้ที่ด่านท่าเรือชินโจวด้วยแล้ว ช่วยให้การตรวจศัตรูพืชกักกันที่พบทั่วไปได้ผลเร็วภายใน 2 ชั่วโมง)
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง เห็นว่า การอัปเกรดการบริโภคของชาวจีนที่สอดคล้องกับการเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักของชนชั้นกลางเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนแข็งแกร่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า จีนจะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น 71 ล้านครัวเรือน โดยการบริโภคสินค้านำเข้าเป็นค่านิยมและพฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อน ‘ความอยู่ดีกินดี’ ของชาวจีน โดยพวกเขาเหล่านี้ยินดีที่จะ ‘ควักกระเป๋า’ เพื่อซื้อสินค้านำเข้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัย จึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้า/ผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงไทยด้วย
ที่มา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง