กลุ่มสารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7และ สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร เข้าตรวจสอบสถานที่รวบรวมต้นกล้าปาล์มน้ำมันเพื่อการค้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่มีใบอนุญาตรวบรวมต้นกล้าปาล์มน้ำมันเพื่อการค้าในพื้นที่ อำเภอละแม จังหวัดชุมพร
ทั้งนี้ จากการเข้าตรวจสอบสถานที่ ต้นกล้าปาล์มน้ำมันบรรจุถุงพร้อมจำหน่าย จำนวน 5,500 ต้น มูลค่าของกลางรวมแล้วเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านบาท พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการอายัดของกลางไว้ทั้งหมด
เบื้องต้นพบความผิดตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช มาตรา 56 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี เนื่องจากการจำหน่ายต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ไม่มีคุณภาพสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรทำให้ได้ผลผลิตต่ำกว่าที่ควรจะได้ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศสูญเสียรายได้มหาศาล กรมวิชาการเกษตรจึงได้รวบรวมหลักฐานส่งพนักงานตำรวจดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป
ปาล์มน้ำมันจัดเป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยพื้นที่ สูงกว่าพืชน้ำมันทุกชนิด สามารถนำมาแปรรูปทำเป็นทั้งในรูปแบบของน้ำมันพืชที่ใช้ในการประกอบอาหาร และใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ เช่น ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ครีมและเนยเทียม เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน ไบโอดีเซล รวมถึงเป็นส่วนผสมเพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันดีเซล เพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ อีกทั้งยังจะช่วยลดปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย และยังสามารถแปรรูปเป็น สบู่ ผงซักฟอก เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ต่าง ๆ และอาหารสัตว์ ด้วย ใบมาบดเป็นอาหารสัตว์ กะลาปาล์มเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิง ทะลายปาล์มใช้เพาะเห็ด และกระทั่งการปลูกลงดินไปแล้วก็ช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีก
ในประเทศไทยมีการปลูกทั้งทางภาคใต้และภาคตะวันออก พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก เป็นปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอรา โดยเฉพาะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้