เทพมังคุดเมืองจันท์  “สิทธิศักดิ์ สนสร้อย” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาทำสวน จังหวัดจันทบุรี ปี 65 ของกรมส่งเสริมการเกษตร

นายสิทธิศักดิ์ สนสร้อย อายุ 56 ปี หรือที่คนทั่วไปเรียกเขาว่า พี่ดำ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาทำสวน จังหวัดจันทบุรี ประจำปี 2565  ซึ่งทำสวนมังคุดบนเนื้อที่ 23 ไร่เศษรวม 3 แปลง โดยสวนของเขามีทุเรียนและสละ  ปลูกเสริมด้วย ได้เล่าถึงวิธีการทำสวนมังคุดให้ประสบความสำเร็จว่า ที่จริงแล้วผมเพิ่งทำสวนมังคุดได้ประมาณ  7- 8 ปีเท่านั้น เมื่อก่อนทำงานเอกชนเป็นเวลาเกือบ 30 ปี ดูแลสัตว์น้ำเกี่ยวกับกุ้ง จึงได้นำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการทำสวนมังคุด เพราะว่าคุณภาพน้ำกับคุณภาพดินเอื้อในการเจริญเติบโตของสัตว์หรือพืชแล้วแต่กรณี แต่ก็เป็นหลักการเดียวกันทำอย่างไรให้ดินมีคุณภาพใส่แร่ธาตุเข้าไปเพื่อให้ผลผลิตออกมา

%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%8C
สิทธิศักดิ์ สนสร้อย

จากนั้นเขาเริ่มลงรายละเอียดเกี่ยวกับทำสวนมังคุดว่า  เทคนิคอย่างหนึ่งของการทำสวนมังคุด คือการทำมังคุดให้ได้ผลผลิตประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ภายในต้นฤดู  เนื่องจากต้นฤดูการผลิต ผลผลิตจากสวนมังคุดของเกษตรกรรายอื่นยังมีปริมาณน้อย ทำให้ได้ราคาผลผลิตที่ค่อนข้างสูง ขายได้ กิโลกรัมละ150-200 บาท ช่วงต้นฤดู ก็คือประมาณปลายมีนาคม-เมษายน  และเมื่อถึงเดือนพฤษภาคม มังคุดก็จะออกมาเยอะ ขายได้เพียงกิโลกรัมละ 20-50 บาท

%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%8C 1
โรงคัดบรรจุมังคุด

สำหรับเคล็ดลับของการทำให้มังคุดออกผลผลิตต้นฤดู คือ การบำรุงเพื่อทำต้นให้สมบูรณ์พร้อมในขณะที่อากาศเอื้อสำหรับการออกดอก นั่นเอง

“ปีนี้ผลผลิตได้น้อย สวนผมขายได้สิบกว่าตัน กิโลกรัมละร้อยกว่าบาท รวมแล้วได้เงินประมาณ 1,200,000-1,300,000 บาท โดยส่งขายประเทศจีนทั้งหมด ซึ่งปกติจะขายได้ปีละสี่สิบกว่าตัน “

%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%8C 2
สวนมังคุดของนายสิทธิศักดิ์

ต่อมาก็คือการลดต้นทุนการผลิตซึ่งจะเกี่ยวกับเรื่องปุ๋ย   “สิทธิศักดิ์ “ทำปุ๋ยผสม (ปุ๋ยเคมีผสมปุ๋ยอินทรีย์) และปุ๋ยอินทรีย์จากปุ๋ยหมักซึ่งทำเองจาก ขี้วัวหมัก ขี้ไก่หมัก ด้วยการลดธาตุตัวกลางลง หรือ ฟอสฟอรัส (P) ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับที่พืชต้องการ ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี พราะปุ๋ยเคมีราคาสูง ทำให้สามารถลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยได้เป็นจำนวนมาก

%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%8C 3
สวนมังคุดของนายสิทธิศักดิ์

และเขายังใส่ใจในเรื่องของธาตุอาหารที่พืชควรได้รับ โดยคำนึงถึงหลักการที่ว่า “มังคุดจะต้องได้รับธาตุอาหารให้ครบทั้ง 16 ชนิด”  ซึ่งปกติธาตุอาหารหลักที่เกษตรกรใช้กันทั่วไป จะมี 3 ตัว คือ N (ไนโตรเจน ) P (ฟอสฟอรัส) K (โพแทสเซียม)แต่“สิทธิศักดิ์” เติมธาตุอาหารเข้าไปอีก 13 ตัว เช่น สังกะสี  แมกนีเซียมซึ่งจะช่วยในการกระตุ้นการออกดอกเร็วขึ้น ช่วยในเรื่องของผลิตผลและคุณภาพ   

%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%8C 4
มังคุดจากสวนของนายสิทธิศักดิ์

นอกจากนี้ สวนของนายสิทธิศักดิ์  ยังผลิตตามหลักมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agricultural Practice: GAP) โดยใช้สารเคมีที่ถูกต้อง ในเรื่องของความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้บริโภค ไม่มีสารตกค้างและมีผลผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้ได้รับใบรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร

ในส่วนของการบริหารจัดการเพื่อให้ผลผลิตออกมาดีนั้น นายสิทธิศักดิ์  บอกว่า มีการเว้นระยะห่างระหว่างต้นมังคุดที่เหมาะสม และเน้นการสำรวจแปลงในช่วงเช้าและช่วงเย็นของทุกวันเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของต้นมังคุด อีกทั้งยังสำรวจศัตรูพืช ศัตรูธรรมชาติที่มีอยู่ในแปลง เพื่อวางแผนการกำจัดอย่างถูกวิธี  มีการติดตามพยากรณ์อากาศ และระดับความชื้นในอากาศเป็นประจำทุกวัน  มีการตรวจวิเคราะห์ดิน เพื่อหาปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน ทำให้สามารถเติมธาตุอาหารที่ขาดได้อย่างเหมาะสม โดยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน อีกทั้งยังต้องทราบถึงค่าความเป็นกรดด่างของดินเพื่อการปรับสภาพดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของมังคุดด้วย

                  

หากมีการระบาดของศัตรูพืช จะมีการใช้สารเคมี โดยจะเลือกใช้สารเคมีตามอัตราแนะนำ และมีการสลับกลุ่มของสารเคมีเพื่อลดการดื้อสารเคมีของแมลง และจะได้ใช้สารฆ่าแมลงได้อย่างคุ้มค่า

                  

นอกจากนี้ “สิทธิศักดิ์” ยังได้รวมกลุ่มสมาชิกใกล้เคียงรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็น “แปลงใหญ่มังคุดตำบลแสลง” โดยเขาดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการผลิตและการตลาด  ซึ่งสมาชิกมาจากชาวสวนมังคุดของตำบลแสลงที่มารวมตัวกันผลิตสินค้าตามที่ตลาดต้องการ เพื่อให้ได้สินค้าที่คุณภาพ สมาชิกมีทั้งหมด 54 คน ซึ่งสมาชิกจะระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งกำหนดแนวทางการผลิตตามประสบการณ์ สำหรับเคมีภัณฑ์ ยา ก็จะใช้เหมือนกัน เพื่อรวมกันซื้อในปริมาณมากและได้ราคาถูกลง ในการผลิตมังคุดคุณภาพ การผลิตมังคุดในสวนของสมาชิกจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแปลงใหญ่มังคุดตำบลแสลง เมื่อผลิตเสร็จ ก็จะทำการคัดเกรดตามที่ตลาดต้องการแล้วเปิดประมูล ซึ่งแปลงใหญ่มังคุดตำบลแสลง มีผลผลิตประมาณ 300 – 500 ตันต่อปี เมื่อขายได้ก็จะหักเงินเข้าแปลงใหญ่ฯ กิโลกรัมละ 50 สตางค์ เป็นค่าบริหารจัดการ จากนั้นจะแบ่งเงินที่ขายได้ตามจำนวนมังคุดที่สวนของสมาชิกนำมาลงทุนในแปลงใหญ่ฯ ต่อไป

                  

สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาช่วยเหลือแปลงใหญ่มังคุดตำบลแสลง  กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี จะเน้นถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้ความรู้ทางการเกษตร รวมทั้งส่งเสริมการตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของแปลงใหญ่ตามโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ และโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เกี่ยวกับการอบรมสัมมนา การตรวจวิเคราะห์ดิน นวัตกรรมทางการเกษตร เช่น รถตัดหญ้า รถพ่นยา จำนวน 3 ล้านบาท

นอกจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังได้ให้งบประมาณจำนวน 23 ล้านบาท เพื่อติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในแปลงใหญ่มังคุดตำบลแสลง มีแผงโซล่าเซลล์ทั้งหมด 15 แผงติดตั้ง 15 บ่อ ซึ่งแผงโซล่าเซลล์ติดตั้งกระจายอยู่ในสวนของสมาชิกแปลงใหญ่ฯ ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้าให้แก่ระบบน้ำภายในสวน โดยใช้ปั๊มซับเมอร์สในการสูบน้ำจากบ่อบาดาลขึ้นแท็งก์น้ำ จากนั้นปล่อยน้ำลงคลองสาธารณะให้ชาวสวนได้ใช้ ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และช่วยลดความแห้งของน้ำคลองได้ประมาณ 1 เดือน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีน้ำใช้ชนรอบหน้าฝนพอดี  ซึ่งแต่เดิมถ้าชาวสวนประสบภัยแล้งก็ต้องซื้อน้ำมาใช้เองเพราะใกล้ช่วงเก็บเกี่ยวผลไม้ โดยแปลงใหญ่มังคุดตำบลแสลง จะใช้น้ำประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะให้ประปาหมู่บ้านนำน้ำคลองไปใช้ในการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน ช่วยเกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมารดสวนผลไม้ และช่วยหมู่บ้านลดต้นทุนการผลิตน้ำประปา