การยางแห่งประเทศไทยพร้อมจัดระบบตรวจสอบย้อนกลับรับเทรนด์ตลาดยางโลก มุ่งขยายตลาด สร้างโอกาสทองยางพาราไทย

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สร้างความพร้อมให้กับการส่งออกยางพาราไทย เดินหน้าจัดการระบบข้อมูลเพื่อรองรับการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของผลผลิตยาง ตามกฎฯ EUDR ที่ว่าผลผลิตยางต้องมาจากพื้นที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่าและไม่รุกล้ำป่าสงวน เพิ่มโอกาสการส่งออกยางพารา หวังยกระดับการจัดการสวนยางสู่สากล

  

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดผลผลิตของผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็นนโยบายสำคัญที่ กยท. กำลังมุ่งเน้นดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่งกระแสโลกกำลังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงประเทศผู้นำเข้ายางรายใหญ่ เช่น ยุโรปที่ออกกฎระเบียบ EU Deforestation-free Regulation (EUDR) คือผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจะต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าผลิตด้วยวัตถุดิบมาจากพื้นที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า และไม่รุกล้ำป่าสงวน ซึ่ง กยท. มีความพร้อมในเรื่องการจัดการระบบข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยาง พื้นที่ปลูก สถาบันเกษตรกรผู้แปรรูปยางตลอดจนการจัดการระบบตลาดกลางยางพารา เพื่อรองรับการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของผลผลิตยาง ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการจัดการสวนยางอย่างถูกต้องตามหลักสากล

         

%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%97 2
กยท. พร้อมจัดระบบตรวจสอบย้อนกลับ

นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  กยท. ตั้งเป้าหมายว่าไทยจะสามารถแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิตยางและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมดภายใน 2 ปี ซึ่งที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินมาตรการที่สนับสนุนมาตรการตรวจสอบย้อนกลับมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ทำให้ทราบข้อมูลพื้นที่ปลูกของเกษตรกรฯ แต่ละราย โดยนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS Rubber) ซึ่งสามารถแสดงที่ตั้งของสวนยาง ทำให้ทราบว่าพื้นที่ปลูกตั้งอยู่บนที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ในรูปแบบโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์อื่นๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปยางของสถาบันเกษตรกรฯ ก็มีระบบเก็บข้อมูลสมาชิกและข้อมูลการรับซื้อยางของสหกรณ์ ที่บันทึกข้อมูลทั้งปริมาณและคุณภาพของยางพาราที่นำมาขายให้กับสถาบัน ตลอดจนข้อมูลการซื้อขายยางพาราของตลาดกลางยางพาราทั้ง 8 แห่งของ กยท. ผ่านระบบ “Thai Rubber Trade” ที่ กยท. พัฒนาขึ้น สามารถเชื่อมโยงข้อมูลยางของตลาดกลางยางพารา กยท. ทุกแห่งทั่วประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งเทคโนโลยี Block chain ที่นำมาใช้ในระบบ สามารถรองรับการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูล แหล่งที่มาของผลผลิตยางพาราได้ 

         

%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%97 7
กยท. พร้อมจัดระบบตรวจสอบย้อนกลับ

“ระบบมาตรฐานจัดการข้อมูลของ กยท. ที่เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง จะสามารถรองรับการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของผลผลิตยางพาราได้ ช่วยให้ผู้ซื้อยางทราบถึงแหล่งกำเนิด เป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเรื่องการส่งออกได้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศแรกๆที่เริ่มเตรียมความพร้อม และมีระบบรวบรวมข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและที่ตั้งของสวนยางแล้ว ” นายณกรณ์ กล่าว