นายวินัย ลักษณะวิลาศ เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี ได้ลงพื้นที่แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หมู่ที่ 5 ตำบลวังตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเยี่ยมชมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการปลูกหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เพื่อให้มีรายได้เสริมในช่วงฤดูแล้งมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็จัดว่าเป็นหนึ่งในพืชที่ใช้น้ำน้อยที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เนื่องจากเป็นพืชที่มีความเสี่ยงน้อย มีระยะการเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 120 วัน และเหมาะแก่การปลูกในฤดูแล้ง
ที่ผ่านมาเกษตรอำเภอกบินทร์บุรี และเจ้าหน้าที่เกษตรตำบล ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องการเพาะปลูก การบำรุงดิน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การผสมปุ๋ยใช้เอง การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์ การแนะนำชนิดของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สมบูรณ์ และมีคุณภาพ การจัดทำบัญชีครัวเรือน การบริหารจัดการกลุ่มและการเชื่อมโยงตลาดตามนโยบายกรมส่งเสริมการเกษตรที่เน้นเป้าหมายการพัฒนาแปลงใหญ่ 5 ด้าน ประกอบด้วยการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการ
“ส่วนเรื่องการตลาดและรายได้ของเกษตรกรนั้น ทางกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความสำคัญและเน้นย้ำ มาตลอดว่า หากจะส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชหรือผลิตอะไร จะต้องมีตลาดรองรับที่แน่นอน หรือ เรียกว่าการตลาดนำการผลิต เช่นเดียวกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาในพื้นที่ตำบลวังตะเคียน ที่แหล่งรับซื้อมีการให้ราคาพิเศษกับกลุ่มแปลงใหญ่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน” เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี กล่าว
ด้านนายมนตรี บ่อจักพันธ์ ผู้จัดการแปลงกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล่าวว่า เริ่มทดลองปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โดยการทดลองปลูกครั้งนั้นได้ผลผลิตประมาณ 800 กิโลกรัมต่อไร่ ถือว่าได้ผลผลิตจำนวนมากและรายได้ดี จากนั้นในปี 2563 จึงมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หมู่ที่ 5 ตำบลวังตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีสมาชิก 39 ราย พื้นที่ปลูก 42 แปลง รวมเนื้อที่ 606 ไร่ และได้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี ปัจจุบันได้ผลผลิตถึง 1,800 กิโลกรัมต่อไร่
ส่วนการนำเครื่องจักรกลการทางเกษตรเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตนั้น ในปี 2564 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด จำนวน 2,999,500 บาท ทางกลุ่มแปลงใหญ่ได้นำไปซื้อรถเกี่ยว 1 คัน รถแทรกเตอร์ 1 คัน พร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วง เทเล่อร์ลาก 1 คัน เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ 2 เครื่อง เครื่องผสมปุ๋ย 1 เครื่อง เครื่องพ่นยาแรงดันสูง 2 เครื่องและนำไปก่อสร้างโรงเรือนเพื่อจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดที่ซื้อมา โดยนำเครื่องจักรกลการทางเกษตรมาใช้ในกระบวนการผลิตตั้งแต่การเตรียมดิน การเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว เช่น การเตรียมดินทางกลุ่มแปลงใหญ่ได้ใช้รถไถ ในการไถดะ ไถแปร และใช้โรตารี่พรวนดิน ทำให้ดินร่วนซุย และพร้อมที่จะเพาะปลูก
สำหรับการเพาะปลูก ทางกลุ่มแปลงใหญ่ได้ใช้เครื่องหยอดเมล็ดแทนแรงงานคน เพราะทำให้ใช้เมล็ดข้าวโพดปริมาณน้อยลงเหลืออัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ และหยอดได้เป็นแถวที่ระยะระหว่างแถวและต้นมีความสม่ำเสมอ สะดวกและง่ายในการบริหารจัดการ สามารถลดระยะเวลาและค่าจ้างแรงงานในการปลูกได้มาก และเครื่องหยอดเมล็ดข้าวโพด ยังสามารถใส่ปุ๋ยรองพื้นไปพร้อมกับการหยอดเมล็ดได้เลย ทำให้ประหยัดเวลาและต้นทุนการผลิตอีกด้วย ในการพ่นสารเคมี ก็จะใช้เครื่องพ่นยาแรงดันสูง ทำให้พ่นได้ไกล ทั่วถึง และสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ยังมีการให้น้ำ ซึ่งเกษตรกรบางรายใช้เทปน้ำพุ่ง หรือน้ำหยด ช่วยให้ประหยัดน้ำ และสามารถให้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการเก็บเกี่ยว โดยเกษตรกรสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ฯทั้งหมด จะใช้รถเกี่ยวที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าแรงงานคน และสมาชิกในกลุ่มไม่ต้องรอคิวจากรถเกี่ยวภายนอก เพราะทางกลุ่มฯมีให้บริการสมาชิก และยังสามารถรับจ้างสร้างรายได้ให้กับกลุ่มฯนำเงินมาพัฒนาด้านอื่น ๆ ได้อีก
ทั้งนี้การใช้เครื่องจักรกลการทางเกษตรในกระบวนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกลุ่มแปลงใหญ่ สามารถลดต้นทุนได้จำนวน 570 บาทต่อไร่ ประกอบด้วย 1.ค่าไถดะ ถ้าจ้างเครื่องจักรภายนอก จะราคา 300 บาทต่อไร่ แต่ถ้าใช้เครื่องจักรภายในกลุ่มจะจ่ายเพียง 200 บาทต่อไร่ ลดต้นทุนได้ 100 บาท 2.ค่าไถแปร ลดต้นทุนได้ 100 บาท 3.ค่าไถพรวน ลดต้นทุนได้ 50 บาท 4.ค่าพ่นยา ลดต้นทุนได้ 50 บาท 5.ค่าหยอดเมล็ด ลดต้นทุนได้ 100 บาท 6.ค่าหว่านปุ๋ย ลดต้นทุนได้ 20 บาท และ 7.ค่าเก็บเกี่ยว ลดต้นทุนได้ 150 บาท รวมเป็นเงิน 570 บาท จากเดิมที่จ่ายทั้งหมด 2,000 บาทต่อไร่ แต่ถ้าใช้เครื่องจักรของกลุ่มแปลงใหญ่ จะจ่ายเพียง 1,430 บาท
“ส่วนรายได้นั้นถือว่าดีมาก ดีกว่าการทำนา เช่น ของผมทำ 20 ไร่ ได้เงินประมาณ 2.6 แสนบาท ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาท เหลือเก็บประมาณ 1.6 แสนบาท ถือว่าอยู่ได้ และเพื่อนสมาชิกบางคนได้เยอะกว่านี้ หรือเฉลี่ยไร่ละ 1 หมื่นบาท ดังนั้นเกษตรกรต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคุ้มกว่าการทำนา โดยมีการนำไปขายที่อำเภอวังน้ำเย็น เป็นโรงงานทำอาหารสัตว์ รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 9.65 บาทในความชื้นที่ 25 เปอร์เซ็นต์ หากความชื้นเยอะราคา ก็ลดลง ถือว่าปีนี้ได้ราคาดี ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่พอใจและมีกำลังใจในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาต่อไป”นายมนตรี กล่าว