ที่แปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของนางสุมาลี ไชยเดช บ้านหนองบัวคำมูล ต.คูคำ อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พร้อมคณะทำงาน เดินทางลงพื้นที่ติดตามและให้กำลังใจเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดขอนแก่น ปี 2565/2566 ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายธงชัย มูลคำศรี เกษตรจังหวัดขอนแก่น ผู้แทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด หรือ ซีพีพี พร้อมด้วยส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ และเกษตรกรในพื้นที่ ให้ความสนใจเข้าร่วมติดตามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจำนวนมาก
โดยหลังจากการพบปะและแลกเปลี่ยนความรู้ ปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พร้อมคณะทำงาน และเกษตรกร ได้ร่วมกันติดตามการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยรถเกี่ยวข้าวโพด การไถกลบตอซังข้าวแทนการเผา รวมทั้งการอัดก้อนใบข้าวโพด เพื่อลดปัญหาการเผาที่สร้างมลภาวะทางอากาศและสิ่งแวดล้อม
นายธงชัย มูลคำศรี เกษตรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หลังจากที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้ร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด และสำนักงานเกษตรฯ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นพืชทางเลือกใหม่ อายุสั้น โดยเฉพาะใช้น้ำน้อย ผลผลิตสูง มีการรับรองราคาขั้นต่ำและแหล่งรับซื้อจัดเจน เพื่อเป็นการสร้างรายได้และช่วยเหลือเกษตรกรในหลายพื้นที่ โดยที่จังหวัดขอนแก่น ได้ดำเนินโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 11 อำเภอ จำนวน 138 ราย พื้นที่ 855.50 ไร่
โดยฤดูกาลผลิตปีนี้ เริ่มเก็บเกี่ยว ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2566 เป็นต้นมา ประกอบด้วย อำเภอชุมแพ จำนวน 64 ราย พื้นที่ 362 ไร่ อำเภอสีชมพู จำนวน 8ราย พื้นที่ 66 ไร่ อำเภอน้ำพอง จำนวน 11 ราย พื้นที่ 50 ไร่ อำเภออุบลรัตน์ จำนวน 2 ราย พื้นที่ 29 ไร่ อำเภอกระนวน จำนวน 7 ราย พื้นที่ 44 ไร่ อำเภอมัญจาคีรี จำนวน 3 ราย พื้นที่ 13 ไร่ อำเภอชนบท จำนวน 4 ราย พื้นที่ 35 ไร่ อำเภอภูผาม่าน จำนวน 1 ราย พื้นที่ 3 ไร่ อำเภอภูเวียง จำนวน 22 ราย พื้นที่ 107.5 ไร่ อำเภอเวียงเก่า จำนวน 3 ราย พื้นที่ 40 ไร่ และอำเภอซำสูง จำนวน 13 ราย พื้นที่ 106 ไร่ ซึ่งขณะนี้เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 90 อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลผลผลิต เพื่อนำมาหาผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ และถอดองค์ความรู้สำหรับเกษตรกร รายที่สามารถทำผลผลิตสูงที่สุด และในส่วนของเกษตรกรที่มีความเสี่ยงเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วไม่สามารถชำระปัจจัยการผลิต จำนวน 21 ราย ได้แจ้งให้คณะทำงานฯ ระดับอำเภอ ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามแบบฟอร์มบันทึกข้อความ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการแล้ว
นางสุมาลี ไชยเดช เกษตรกรบ้านหนองบัวคำมูล ต.คูคำ อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น ที่เข้าร่วมโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล่าวว่า ตนเองได้เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับสถาบันปิดทองหลังพระฯ เป็นปีแรกโดยใช้ที่นาประมาณ 19 ไร่ เป็นพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งเดิมที่นาแปลงนี้ได้ใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ก่อนที่จะมาร่วมโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ก็ประสบกับปัญหาเรื่องรายได้จากการขายข้าวนาปรัง เพราะไม่มีผลกำไรจากการเพาะปลูก บางปีลงทุนมากแต่ก็ได้ผลผลิตน้อย ไม่คุ้มค่า แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าหากไม่ทำข้าวนาปรังแล้วจะปลูกอะไรเพื่อให้มีรายได้ในฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี อีกทั้งราคาข้าวก็ไม่แน่นอน จนกระทั่งเกษตรอำเภอซำสูง ได้เข้ามาแนะนำว่ามีโครงการดี ๆ จากมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทดลองปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน ทั้งในด้านองค์ความรู้ เงินทุน และเครื่องไม้เครื่องมือในการเพาะปลูก ตนเองจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ เนื่องจากเห็นว่า จะเป็นการสร้างรายได้หลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีได้มากขึ้น เพราะปลูกง่าย ดูแลง่าย ใช้น้ำน้อย อายุสั้นในการเก็บเกี่ยวผลผลิต
ที่สำคัญราคารับซื้อแน่นอนและรับซื้อเป็นจำนวนมาก การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงได้ผลคุ้มค่ากว่าปลูกพืชชนิดอื่น ประกอบกับเป็นช่วงที่กำลังมองหาพืชมาเพาะปลูกเพิ่มรายได้ จึงลองเปลี่ยนดู อีกทั้งก่อนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ก็มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานจากกลุ่มเกษตรกรที่ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ทำให้ทราบว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการนี้ สามารถสร้างรายได้มากกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ โดยหลังจากการเข้าร่วมโครงการก็ทำให้สถานะทางการเงินของครอบครัวดีขึ้น สามารถมีเงินส่งลูกเรียนหนังสือในระดับที่สูงขึ้นได้ ซึ่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตในครั้งนี้ ตนเองมีรายได้จากการขายผลผลิตเป็นเงินกว่า 120,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่มากกว่าการขายข้าวนาปรังในแต่ละปี ในอนาคตจะขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มแน่นอน เพราะขณะนี้มีองค์ความรู้และทราบขั้นตอนจากการเพาะปลูกในปีนี้แล้ว ในฤดูการเพาะปลูกหน้าก็จะหันมาปลูกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน