ข้าวหอมมะลิไทย นับเป็นข้าวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ด้วยลักษณะเด่นที่ข้าวหุงสุกจะมีความนุ่ม เหนียว และมีกลิ่นหอม ทำให้เป็นหนึ่งในพันธุ์ข้าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดโดยคนไทย ต่างชาติ รวมถึงผู้บริโภคชาวจีน
ทั้งนี้ เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข้าวหอมมะลิไทยได้กลายเป็นข่าวใหญ่ในประเทศจีน สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 สถานีโทรทัศน์ CCTV-2 (CCTV Finance and Economics Channel) ได้ถ่ายทอดรายการ “315 กาล่า” (3.15 晚会) ซึ่งได้เปิดโปงกรณีโรงงานข้าวในจีน 3 ยี่ห้อ ได้แก่ (1) “ไท่จึหวัง” เอ้อใต้ไท่กั๋วเซียงหมี่ (“太子王”二代泰国香米) (2) ไท่กั๋วโม่ลี่เซียงหมี่ (泰国茉莉香米) และ (3) ไท่เซียง (泰香) ได้นำข้าวที่ปลูกในจีนมาเติมสารแต่งกลิ่นเพื่อให้มีกลิ่นหอมคล้ายกับข้าวหอมมะลิไทย[1] และนำมาแอบอ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย โดยสร้างยอดขายมากกว่า 10,000 ตันต่อปี
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าอาหารของจีนซึ่งกำหนดว่าห้ามใช้สารเติมแต่งอาหารเพื่อปลอมแปลงสินค้าอาหาร โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 19 เมษายน 2566 สำนักงานกำกับดูแลตลาดอำเภอโซ่วเสี้ยน มีคำสั่งให้ “ไท่จึหวัง” เอ้อใต้ไท่กั๋วเซียงหมี่ (“太子王”二代泰国香米) ตัดคำว่า ไท่กั๋ว (泰国) ออกจากหน้าบรรจุภัณฑ์
ปัจจุบันข้าวหอมที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจีนหลายยี่ห้อ มีข้อความหรือรูปแบบที่แสดงถึงความเป็นไทย สวยงามน่าซื้อ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อข้าวหอมมะลิแท้ของไทยได้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอแนะนำวิธีการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิไทยแท้ที่นำเสนอโดยสำนักงานพาณิชย์ต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง ดังนี้
1.1. ผู้บริโภคควรสังเกตสัญลักษณ์ 3 ชนิดบนบรรจุภัณฑ์ คือ (1) เครื่องหมายแหล่งกำเนิด (2) บาร์โค้ด และ (3) หน่วยงานตรวจสอบ
2.2 ควรเลือกซื้อข้าวหอมมะลิไทยจากสถานที่วางจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ และซื้อข้าวยี่ห้อที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักในซุปเปอร์มาร์เก็ต หากซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ควรเลือกซื้อจากแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียง อีกทั้งไม่ควรเห็นแก่สินค้าราคาถูก
3.หลีกเลี่ยงข้าวที่ขายหรือโฆษณาผ่านช่องทางที่อาจไม่ปลอดภัย กล่าวอ้างสรรพคุณหรือคุณภาพเกินความจริง และไม่ควรคิดว่า ข้าวยิ่งมีราคาแพงยิ่งมีคุณภาพดี
4.ข้อแนะนำเพิ่มเติม
4.1 ควรเลือกซื้อข้าวที่มีวันที่ผลิตใกล้เคียงกับวันที่ซื้อมากที่สุด เพื่อความสดใหม่ ปลอดภัย และรสชาติที่ดีกว่า
4.2 ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขอนามัย ไม่ควรเก็บข้าวไว้นานเกินไป ควรเก็บรักษาข้าวอย่างถูกวิธี เช่น เก็บในที่เย็น แห้ง มีอากาศถ่ายเทดีและควรบริโภคข้าวให้หมดก่อนวันหมดอายุที่ผู้ผลิตระบุไว้
5.เหตุการณ์ข้างต้นสะท้อนว่า ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจและยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวในตลาดจีนได้อีกมาก แต่คุณภาพสินค้าก็ยิ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นด้วย ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวจีนมีช่องทางการเข้าถึงสินค้าและข้อมูลข่าวสารมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์
ดังนั้น นอกเหนือไปจากการดูแลคุณภาพมาตรฐานของสินค้าให้ดีและสม่ำเสมอแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ค้า ผู้ส่งออก ตลอดจนผู้ผลิตข้าวยังควรมีการสื่อสารกับคู่ค้าหรือผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพของข้าวไทยและการเลือกข้าวไทยที่นำเข้ามาจากไทยอย่างถูกต้อง รักษาภาพลักษณ์ที่ดีของข้าวไทย และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเครื่องหมายหรือตราสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองคุณภาพข้าวของไทยด้วย
ที่มา :ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง