พาณิชย์ลุยเอาผิดปลอมหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าส่งออกทุเรียน-ล้ออัลลอย

กรมการค้าต่างประเทศเดินหน้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำการปลอมหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หลังศุลกากรต่างประเทศ ขอความร่วมมือให้ตรวจรวม 1,055 ฉบับ พบมีการปลอมรวม 604 ฉบับ เป็นการสวมเลข Form ของผู้ส่งออกรายอื่น หรือกำหนดเลขขึ้นมาเอง ใช้กับสินค้าทุเรียนส่งไปจีน และล้ออัลลอย ส่งไปรัสเซีย เตรียมปรับระบบใช้ SMART CO เพิ่มความเข้ม ตรวจผ่าน QR Code และมีการลงลายน้ำ

%E0%B8%93%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C %E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B9%8C
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับการประสานจากหน่วยงานศุลกากรต่างประเทศ เพื่อขอความร่วมมือตรวจสอบย้อนหลังหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ได้แสดงต่อศุลกากรต่างประเทศในการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยตรวจสอบมาตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,055 ฉบับ แบ่งเป็น 1.หนังสือรับรองที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Form FTA) ได้แก่ Form D / Form E / Form AK และ Form AI จำนวนรวม 788 ฉบับ และ 2.หนังสือรับรองที่ไม่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษี (Form CO ทั่วไป) จำนวนรวม 267 ฉบับ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เป็นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าปลอม ไม่ได้ออกโดยกรมฯ จำนวนรวมทั้งสิ้น 604 ฉบับ แบ่งเป็น 1.Form FTA จำนวน 382 ฉบับ และ 2.Form CO ทั่วไป จำนวน 222 ฉบับ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าปลอม จำนวน 604 ฉบับ พบว่า เป็นการปลอมแปลงเอกสารโดยการสวมเลขที่ Form ของผู้ส่งออกรายอื่น หรือมีการกำหนดเลขที่ Form ขึ้นเอง โดยมีการใช้หนังสือรับรองกับสินค้า 2 รายการ ได้แก่ 1.สินค้าทุเรียน ซึ่งเป็นหนังสือรับรองภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (Form E) สำหรับการส่งออกไปประเทศจีน และ 2.สินค้าล้ออัลลอย (Alloy Wheel) ซึ่งเป็นหนังสือรับรอง Form CO ทั่วไป สำหรับการส่งออกไปสหพันธรัฐรัสเซีย

“จากทั้งสองกรณีดังกล่าว กรมฯ ได้แจ้งตอบให้ศุลกากรปลายทางทั้งสองประเทศทราบแล้วว่าเป็นหนังสือรับรองที่ไม่ได้ออกโดยกรมฯ และขอข้อมูลหรือเอกสารเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการกับผู้ปลอมแปลงหนังสือรับรองต่อไป รวมทั้งอยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อเร่งดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าว และประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับศุลกากรประเทศผู้นำเข้าปลายทาง เพื่อร่วมกันป้องกันปัญหาการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างต่อเนื่อง”นายรณรงค์กล่าว
         

นายรณรงค์กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการนำเอกสารหนังสือรับรองปลอมไปใช้ในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย ซึ่งจะทำให้ศุลกากรปลายทางขาดความเชื่อมั่น และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพรวมทางการค้าระหว่างประเทศของไทย กรมฯ จึงกำหนดมาตรการเชิงรุก โดยการจัดทำระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ SMART CO ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่าน QR Code และมีการลงลายน้ำ เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล รวมทั้งจัดทำแผนการพบปะหารือหน่วยงานศุลกากรจีน รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ของจีนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางป้องกันและเอาผิดกับผู้ดำเนินการปลอมแปลงเอกสารตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง