เตือนเกษตรกรสวนส้มเขียวหวานให้เฝ้าระวังเพลี้ยไฟในระยะที่ส้มติดผลอ่อนจนถึงผลส้มมีขนาดเบอร์ 4 จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเขี่ยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนและผลอ่อน ส่งผลให้ใบผิดปกติ ใบแคบเรียว กร้าน
สภาพอากาศแห้งแล้ง และมีอากาศร้อน เตือนเกษตรกรสวนส้มเขียวหวานให้เฝ้าระวังเพลี้ยไฟในระยะที่ส้มติดผลอ่อนจนถึงผลส้มมีขนาดเบอร์ 4 จะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเขี่ยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนและผลอ่อน ส่งผลให้ใบผิดปกติ ใบแคบเรียว กร้าน มักพบเพลี้ยไฟเข้าทำลายรุนแรงในระยะผลอ่อน ตั้งแต่กลีบดอกร่วงจนถึงผลส้มเขียวหวานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร ส้มผลอ่อนที่ถูกทำลายจะเกิดวงสีเทาเงินบริเวณขั้วและก้นผล หรือเป็นทางสีเทาเงินตามความยาวของผล ทำให้ผลแคระแกร็น
แนวทางในการป้องกันและแก้ไขการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ เกษตรกรควรควบคุมบังคับให้ต้นส้มแตกยอด ออกดอก และติดผลในระยะเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการป้องกันกำจัด สะดวกในการดูแลรักษา ช่วยลดจำนวนครั้งในการพ่นสารเคมี และช่วยอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่พบมากในสวนส้ม จากนั้น ให้เกษตรกรเก็บยอด ใบ หรือเด็ดผลอ่อนที่ถูกเพลี้ยไฟเข้าทำลายนำไปเผาไฟทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเพลี้ยไฟ ช่วยให้ต้นส้มฟื้นตัวเร็วขึ้น และช่วยการแตกยอดของส้มรุ่นต่อไปอีกด้วย
เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจดูเพลี้ยไฟในแปลงปลูกช่วงที่ส้มเขียวหวานแตกใบอ่อนและผลอ่อน หากพบการเข้าทำลายผลมากกว่า 10% หรือพบเข้าทำลายยอดมากกว่า 50% ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
สำหรับส้มเขียวหวาน เป็นส้มพันธุ์ปลูกหนึ่ง ที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากส้มแมนดาริน (C. reticulata) มีผิวสีเขียวอมเหลืองเมื่อสุกต่างจากส้มแมนดารินเมื่อสุกสีส้มล้วน แหล่งปลูกที่เป็นที่รู้จักคือ บางมด
ในประเทศไทยมีผู้สันนิษฐานว่ามีผู้นำเข้าต้นพันธุ์มาจากประเทศจีนเมื่อระยะเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว
แหล่งที่ขึ้นชื่อว่าปลูกส้มเขียวหวานกันมากและมีชื่อเสียงในประเทศไทย คือ ตำบลบางมดในพื้นที่อำเภอราษฎร์บูรณะและแขวงบางมดในเขตทุ่งครุและแขวงบางมดในเขตจอมทองของกรุงเทพมหานคร จนได้ชื่อว่า “ส้มบางมด” แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 มีน้ำทะเลได้หนุนเข้ามาทำให้ไม่สามารถปลูกได้ จึงได้เปลี่ยนมาปลูกที่ทุ่งรังสิต โดยเริ่มที่คลองสอง ธัญบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 จึงมาปลูกที่อำเภอหนองเสือ จนได้ชื่อว่า “ส้มรังสิต”
ส้มเขียวหวานที่ผลิตในแต่ละปีจะใช้บริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายประเทศเพื่อนบ้าน นำรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาท