กลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวโพดโคราช ยืนยันเกษตรกรทุกวันนี้ไม่เผาตอซังแต่หันมาใช้วิธีไถกลบหลังเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ดินดีขึ้น ช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ แถมยังลดฝุ่นละออง ดีต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน
ผู้ใหญ่ภูสิทธิ์ จอสูงเนิน ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ปัจจุบัน เกษตรกรมีความรู้มากขึ้นและตระหนักดีว่าการเผาหลังเก็บเกี่ยวทำลายหน้าดิน คุณภาพและอินทรียวัตถุในดินลดลง ไม่เหมือนเกษตรกรสมัยก่อนที่มักใช้วิธีเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยวเพราะขาดเครื่องมือเหมาะสมและต้นทุนสูง ทุกวันนี้ กลุ่มเพื่อนเกษตรกรปลูกข้าวโพดในพื้นที่ตำบลเสมาและตำบลโนนคำ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวโพด 2,500 ไร่ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีไถกลบแทนการเผากันมากกว่า 4-5 ปีแล้ว ช่วยให้ดินมีธาตุอาหารและชุ่มชื้นขึ้น เพราะตอซังย่อยสลายเป็นธาตุอาหารของพืช เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ช่วยประหยัดค่าปุ๋ยบำรุงดิน ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
“ประโยชน์จากการไถกลบ เป็นวิธีบำรุงดินที่ง่ายและสะดวก ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินโดยตรง ผลผลิตข้าวโพดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1-1.2 ตันต่อไร่ และชุมชนยังได้อากาศที่ดีขึ้น เพราะปลูกแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ผู้ใหญ่ภูสิทธิ์กล่าว
ผู้ใหญ่ภูสิทธิ์ เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ขายผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงพื้นที่ปลูก ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาโดยกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (Feed Ingredients Trading Business Group : FIT) เครือซีพี ซึ่งสามารถยืนยันว่าผลผลิตข้าวโพดมาจากการแหล่งปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่บุกรุกตัดไม้ทำลายป่า
กลุ่มของผู้ใหญ่ภูสิทธิ์ยังเป็นต้นแบบเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดแบบปลอดเผา ได้แนะนำเคล็ดลับความสำเร็จเพิ่มผลผลิตต่อไร่ว่า หลังเก็บเกี่ยวควรไถกลบในช่วงหน้าดินยังอ่อน และปล่อยทิ้งไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลายในดิน ต่อจากนั้นในการเตรียมแปลงปลูกให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หรือมูลสัตว์ก่อนปลูกอีกครั้ง เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช
นอกจากนี้ FIT ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “ฟ.ฟาร์ม” (For Farm) ขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยเกษตรกรตั้งแต่การกำหนดวันปลูก ดูแลแปลงปลูกจนถึงวันเก็บเกี่ยว รวมข่าวสารความรู้และคำแนะนำต่างๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกรวมถึงสามารถติดตามราคารับซื้อของโรงงานอาหารสัตว์ได้ทุกวันอีกด้วย ช่วยให้ผู้ใหญ่ภูสิทธิ์สามารถเปิดดูข้อมูลน้ำฝนเพื่อกำหนดวันเตรียมแปลง และวันปลูกข้าวโพดได้แม่นยำขึ้น และติดตามราคารับซื้อผลผลิตรายวัน
ขณะเดียวกัน บริษัทยังนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยติดตามว่าเกษตรกรที่ลงทะเบียนในระบบตรวจสอบย้อนกลับ หากพบว่าเกษตรกรอยู่ในพื้นที่เผาหลังเก็บเกี่ยว บริษัทฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปให้คำแนะนำการปลูกที่ปลอดเผา รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมั่นในระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งปลูกข้าวโพดอีกด้วย