นางธีรารัตน์ สมพงษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยถึงผลสรุปข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2566 (ข้อมูล ณ 5 เมษายน 2566) โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ ภาคตะวันออก สรุปตัวเลขเอกภาพปริมาณผลผลิตของไม้ผล 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี ตราด) สรุปปี 2566 ปริมาณผลผลิตรวมทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 1,053,328 ตัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 1,262,899 ตัน (ลดลง 209,571 ตันหรือร้อยละ 17)
โดย ลองกอง ลดลงมากที่สุดร้อยละ 62 รองลงมา มังคุด ลดลงร้อยละ 45 เงาะ ลดลงร้อยละ 35 และทุเรียน ลดลงร้อยละ 3 ซึ่งผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2566 สลับกับอากาศหนาวเย็น ไม่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผลของไม้ผล อีกทั้งได้รับผลกระทบจากลมพายุ ลมแรงหลายรอบในช่วงเดือนธันวาคม 2565 – ต้นเดือนเมษายน 2566 ทำให้ดอกและลูกร่วงเสียหาย ทั้งนี้ ผลผลิตได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน 2566 โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือนเมษายน 2566 หลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไปต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2566 คิดเป็นร้อยละ 55 ของผลผลิตทั้งหมด
ด้านผลผลิตต่อไร่ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด พบว่า มีจำนวน 1,604 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงจากปี 2565 ที่มีผลผลิต 1,845 กิโลกรัม/ไร่ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก ไม่สามารถพัฒนาเป็นระยะติดผลได้ บางส่วนแตกใบอ่อนแทนการออกดอก อีกทั้ง ทุเรียนซึ่งเป็นไม้ผลหลัก ไม่สามารถรักษาโรครากเน่าโคนเน่าจากเชื้อราไฟทอปธอร่า (Phytophthora) และโรคกิ่งแห้งทุเรียนจากเชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium) นอกจากนี้ ยังพบเพลี้ยไฟระบาดทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ ให้ผลผลิตได้ไม่เต็มต้น ประกอบกับมีต้นที่เริ่มให้ผลผลิต ปี 2566 เป็นปีแรก เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งต้นที่ให้ผลใหม่ปีแรกผลผลิตต่อไร่ยังไม่มากเมื่อคำนวณโดยค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง
สถานการณ์การผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ขณะนี้ ทุเรียน ออกดอกแล้วร้อยละ 100 เริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนสิงหาคม 2566 ทุเรียนที่เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงแรกคือทุเรียนพันธุ์เบา และทุเรียนที่บังคับสารออกดอกคือทุเรียนพันธุ์กระดุม พวงมณี ชะนี และหมอนทองบางส่วน โดยทุเรียนจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในกลางเดือนเมษายน ต่อเนื่องถึงกลางเดือน พฤษภาคม 2566 ร้อยละ 55 ของผลผลิตทั้งหมด มังคุด ออกดอกแล้วร้อยละ 81 การเติบโตระยะผลเล็ก ผลกลางผลโตทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิต เริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม จนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2566 ปีนี้ มังคุดออกดอกน้อย เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนหนาวเย็นนาน ฝนตกชุกช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2566 ส่งผลให้ มังคุดอยู่ในระยะปากนกแก้ว แตกใบอ่อนแทนการออกดอกและพายุลมแรงใบร่วงหล่นต้องสร้างใบใหม่ ไม่พร้อมการออกดอก จึงออกดอกติดผลน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยมังคุดจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนมิถุนายน 2566 ร้อยละ 41 ของผลผลิตทั้งหมด เงาะ ออกดอกร้อยละ 99 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะผลอ่อน ผลเล็ก เริ่มสร้างเนื้อ และเริ่มเก็บเกี่ยวได้
ซึ่งเงาะที่เริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้วบางส่วนคือเงาะสีทองของจังหวัดตราด เงาะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม จนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2566 โดยเงาะจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2566 ร้อยละ 31 ของผลผลิตทั้งหมด และลองกอง ออกดอกแล้วร้อยละ 59 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะตั้งช่อดอกและเริ่มติดผลอ่อนบ้างเล็กน้อย ปีนี้ลองกองติดผลช้ากว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีฝนตกชุกช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2566 ทำให้ต้นลองกองไม่อยู่ในระยะกักน้ำ ต้นไม่ขาดน้ำ ใบเขียวไม่สลด ส่วนลองกองที่ออกดอกก่อนหน้ามาถูกฝนชะดอก ดอกฝ่อ ไม่สามารถพัฒนาเป็นช่อดอกได้ โดยลองกองสามารถออกดอกได้ทั้งปีโดยคาดว่าดอกชุดหลังจะออกในช่วงปลายเดือนเมษายน 2566 ผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในปลายเดือนมิถุนายน ต่อเนื่องเดือนกรกฎาคม 2566 ร้อยละ 55 ของผลผลิตทั้งหมด
แนวทางการบริหารจัดการผลไม้ ในปี 2566 ทั้ง 3 จังหวัด ได้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด โดยประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน 4 พันธุ์ ดังนี้ พันธุ์กระดุม และพันธุ์พวงมณี เก็บเกี่ยวได้วันที่ 10 มีนาคม 2566 พันธุ์ชะนีเก็บเกี่ยวได้วันที่ 20 มีนาคม 2566 และพันธุ์หมอนทอง เก็บเกี่ยวได้วันที่ 15 เมษายน 2566 หากเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนวันกำหนด ต้องนำตัวอย่างทุเรียนไปตรวจเปอเซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ณ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ จุดบริการ สถาบันที่เข้าร่วมโครงการ
ในส่วนของล้งส่งออกต้องแจ้งด้านตรวจพืชจันทบุรี หรือ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) จังหวัดจันทบุรี เพื่อสุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนปิดตู้ส่งออก ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ทุเรียน มกษ. 3-2556 ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร (กวก.) โดยกำหนดค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนขั้นต่ำของพันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง และพันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง หากต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ซึ่งผู้ใดจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ จะใช้มาตรการทางการปกครองและมาตรการทางกฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด
สำหรับในปี 2566 เครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย มีแนวทางในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพทุเรียนหมอนทองภาคตะวันออก โดยการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ผลิต ล้งส่งออก ผู้ประกอบการ ที่มีความสมัครใจในการตัดและรับซื้อทุเรียนคุณภาพที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนหมอนทองเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 35 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง จากที่มาตรฐานกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง โดยล้งรับซื้อเป็นผู้จ่ายส่วนต่างค่าแขวนที่น้ำหนักหายไประหว่างรอตัดทุเรียนตามเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งที่เพิ่มขึ้น เพื่อผู้บริโภคปลายทางประเทศจีนได้ซื้อทุเรียนที่มีคุณภาพบริโภค โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 (สสก.3) จังหวัดระยอง สำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี ตราด) สนับสนุนเกษตรกรที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ มีล้งส่งออกที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้วรวมจำนวน 28 ล้ง
ทั้งนี้ สสก.3 ได้นำข้อมูลเอกภาพนี้ไปบริหารจัดการ ในการจัดตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ทั้งปริมาณการออกสู่ตลาดและราคาขายรายวัน โดยเริ่มรายงานตั้งแต่ 12 เมษายน 2566 เป็นต้นไป หากท่านใดที่สนใจข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคตะวันออกสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สศท.6 โทร 0 3835 2435หรืออีเมล[email protected]