กรมการค้าภายในเคาะส่วนต่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวดเดียว 5 งวด เผยราคาพุ่งทะลุเพดานประกันทุกงวด ไม่ต้องจ่ายชดเชย คาดอีก 7 งวดที่เหลือ ราคาจะยังทรงตัวในระดับสูงต่อไป ย้ำจะติดตามการซื้อขายใกล้ชิด ตรวจสอบการปิดป้ายแสดงราคา เครื่องชั่ง เครื่องวัดความชื้น
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้พิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2565/66 และกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2565/66 งวดที่ 1-5 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 20 พ.ย.2565 ถึงวันที่ 19 มี.ค.2566 ปรากฏว่ามีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงของงวดที่ 1–5 ได้แก่ งวดที่ 1 กิโลกรัม (กก.) ละ 11.33 บาท งวดที่ 2 กก.ละ 11.70 บาท งวดที่ 3 กก.ละ 12.35 บาท งวดที่ 4 กก.ละ 12.66 บาท และงวดที่ 5 กก.ละ 12.33 บาท ซึ่งทั้ง 5 งวด มีราคาสูงกว่าราคาประกันที่ กก.ละ 8.50 บาท จึงไม่มีส่วนต่างชดเชยให้แก่เกษตรกร
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะมีการพิจารณากำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงเป็นประจำเดือนละ 1 ครั้ง จนถึงระยะเวลาสิ้นสุดการรับสิทธิ์ชดเชยตามโครงการ วันที่ 20 ต.ค.2566 หรือรวมทั้งสิ้น 12 งวด โดยคาดว่า ปีนี้จะไม่ต้องจ่ายชดเลย เพราะราคาข้าวโพดทรงตัวอยู่ในระดับสูง และคาดว่าจะสูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี
สำหรับคาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของโลก ปีการผลิต 2565/66 ณ เดือนมี.ค.2566 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดว่า จะอยู่ที่ปริมาณรวม 1,147.52 ล้านตัน ลดลงจากปริมาณที่คาดการณ์ไว้ ณ เดือนก.พ.2566 ที่มีปริมาณ 1,151.36 ล้านตัน หรือลดลง 0.33% เนื่องจากอาร์เจนตินาและสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนและภัยแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตลดลง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของผู้แทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ที่คาดการณ์ว่าราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการดูแลเกษตรกร กรมฯ จะมีการติดตามและกำกับดูแลการซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้นอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยหากเกษตรกรพบเห็นว่าผู้ประกอบการรายใด ไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ กดราคารับซื้อ โกงน้ำหนัก หรือมีพฤติกรรมใด ๆ ที่เป็นการเอาเปรียบเกษตรกร สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569