สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ และรศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานแผนงาน การยกระดับห่วงโซ่คุณค่าการผลิตแตงโมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ที่ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัย ปีงบประมาณ 2565 แก่ ทีมคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ภายใต้ชุดโครงการ จำนวน 3 โครงการวิจัยย่อยประกอบด้วย 12 กิจกรรม
ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พาเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกแตงโมเกาะสุกรที่นำมาจัดแสดงเพื่อให้เห็นถึงการดำเนินงานการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าการผลิตแตงโมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนในพื้นที่
ดร.ขวัญตา ตันติกำธน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง หัวหน้าแผนงานวิจัย เผยว่าแตงโมเกาะสุกร เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีจุดเด่นในระดับพื้นที่ มีรสชาติอร่อย เพราะพื้นที่บริเวณเกาะสุกรมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายตามแนวชายหาด ทำให้ต้นแตงโมงอกงามได้ดี และสามารถปลูกได้ถึงปีละ 3 รุ่น แต่เกษตรกรยังคงประกอบอาชีพปลูกแตงโมแบบดั้งเดิม ไม่มีการบริหารจัดการ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง กำไรน้อย ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวคณะนักวิจัยจึงได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการผลิตแตงโมตลอดห่วงโซ่ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ อาทิ การจัดการระบบการปลูก มาตรฐาน การคำนวณต้นทุน รวมไปถึงการจัดทำเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์และการตลาด เป็นต้น จนสามารถเกิดผลผลิตของโครงการในการส่งมอบจำนวน 4 ผลผลิต ในวันนี้
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ และรศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ กล่าวชื่นชมคณะนักวิจัยที่ได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการดำเนินงาน ที่จะช่วยเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมในพื้นที่เกาะสุกร ให้เกิดการบริหารจัดการการปลูกให้ได้มาตรฐานและเพิ่มราคาในการจำหน่ายให้สูงขึ้น โดยให้หลักการเพิ่มเติมว่าควรวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการและเชื่อมโยงระหว่างต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยเริ่มจากเป้าหมายของโครงการ การยกระดับห่วงโซ่คุณค่าการผลิตแตงโมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากหรือรายได้ และควรเพิ่มเติมข้อมูลผลผลิตและจำนวนผู้ใช้ประโยชน์องค์ความรู้หรือผลงานวิจัยโดยให้ระบุกลุ่มเป้าหมายไห้ชัดเจน เช่น กลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่เข้าร่วมโครงการ และการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยเพื่อการแก้ไขปัญหา รวมถึงสร้างกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้ผลิตผลงานวิจัยสู่ผู้ใช้ประโยชน์องค์ความรู้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบ อธิบายแนวทางการตลาดที่ยั่งยืนเรื่องการเกิดเครือข่ายตลาดในกลุ่มผู้ปลูกและผู้ประกอบการเพื่อขนส่ง การผลิต การขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อสร้างการตลาดยั่งยืนต่อไป
นายธีรวัฒน์ บุญสม คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยและคณะนักวิจัยได้ร่วมกันส่งมอบผลผลิตจากชุดโครงการวิจัย ให้องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกรและประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกแตงโมเกาะสุกร จำนวน 4 ผลผลิต ประกอบไปด้วย 1) คู่มือแนวปฏิบัติการปลูกแตงโมเกาะสุกร และคู่มือการจัดการต้นทุนและระบบการบริหารต้นทุนการปลูกแตงโมเกาะสุกร 2) เว็ปไซต์จำหน่ายผลผลิตแตงโมเกาะสุกร และแอพพลิเคชั่นการคำนวณต้นทุนกำไรแตงโมเกาะสุกรบนโทรศัพท์มือถือ 3) สื่อวีดิทัศน์เรื่องราวแตงโมเกาะสุกร และสื่อแอนิเมชั่นแนวปฏิบัติการปลูกและการเก็บเกี่ยวผลผลิตแตงโมเกาะสุกร และ 4) บรรจุภัณฑ์แตงโมเกาะสุกร
ทั้งนี้ นายธีรวัฒน์ บุญสม และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ได้ร่วมกิจกรรมปล่อยปูม้า ณ หาดทรายทอง เกาะสุกร ซึ่งเป็นผลผลิตจาก “โครงการวิจัยธนาคารปูม้าเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าและสร้างเศรษฐกิจฐานรากชุมชนชายฝั่งพื้นที่จังหวัดตรัง” ที่ได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจาก วช. ประจำปีงบประมาณ 2562 – 2565 ซึ่งมี ดร.วิกิจ ผินรับ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ศรีวิชัย เป็นหัวหน้าแผนงานวิจัย