“จุรินทร์” สั่งเดินหน้า “มาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566” รับมือผลไม้ที่จะออกสู่ตลาด 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% เคาะ 22 มาตรการเชิงรุก ดูแล 4 ด้าน การผลิต การตลาดในประเทศ ต่างประเทศ และด้านกฎหมาย ตั้งเป้าดันราคาผลไม้ดีตลอดฤดูการผลิต
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดผลไม้ ปี 2566 ร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการผลไม้ ผู้แทนเกษตรกร ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง สถานีบริการน้ำมัน โลจิสติกส์ สายการบิน ผู้แทนสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการดูแลผลไม้ ปี 2566 รองรับผลผลิตผลไม้ที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 3%
โดยในปี 2566 นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมตลาดล่วงหน้ารองรับผลไม้ไว้กว่า 700,000 ตัน โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิต ด้านการตลาดในประเทศ ด้านการตลาดต่างประเทศ และด้านกฎหมาย โดยมีจำนวน 22 มาตรการ ที่จะนำมาใช้ดูแล
สำหรับ 22 มาตรการ ได้แก่ 1.เร่งรัดตรวจและรับรอง GAP เป้าหมายไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง 2.ใช้อมก๋อยโมเดล ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจับคู่เกษตรกร-ผู้ค้า 100,000 ตัน 3.ช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกร กระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 90,000 ตัน 4.สนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรงในช่วงที่ผลไม้ออกมาก 30,000 ตัน 5.ประสานงานห้าง ร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมันต่าง ๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้แก่เกษตรกร 100,000 ตัน 6.รณรงค์บริโภคผลไม้ไทย จัดงาน Fruit Festival ในแหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนการโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบิน ฟรี 20 กิโลกรัม (กก.) ปริมาณรวม 42,000 ตัน
7.สนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ไปยังผู้บริโภค ผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จำนวน 300,000 กล่อง หรือ 3,000 ตัน 8.อบรมให้ความรู้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เรื่องการค้าออนไลน์ ขายตรงให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงอบรมหลักสูตรการส่งออกเบื้องต้น ตั้งเป้าอย่างน้อย 2,500 ราย 9.ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายแรงงาน 10.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) เตรียมความพร้อมสนับสนุนกำลังพล ช่วยเก็บเกี่ยว คัดแยกและขนย้ายผลไม้ ในบางช่วงที่หากมีปัญหาแรงงาน 11.เชื่อมโยงผลไม้ โดยทีมเซลล์แมนจังหวัด-ประเทศ ประสานงานกันช่วยระบายผลไม้ของเกษตรกรทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ
12.ส่งเสริมการแปรรูปช่วยค่าบริหารจัดการแปรรูปผลไม้ เช่น ลำไยอบแห้ง ทุเรียนแช่แข็งเพื่อการส่งออก 13.เจาะตลาดนิคมอุตสาหกรรม เปิดพรีออร์เดอร์ผลไม้ กว่า 15,000 ตัน ใน 60 นิคม 30,000 โรงงาน 14.เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก โดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% และช่วยผู้ส่งออกผลไม้ กก.ละ 4 บาท ปริมาณ 100,000 ตัน 15.เจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ออนไลน์ ออฟไลน์ มุ่งเน้นตลาดใหม่ 16.จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างประเทศ เช่น ส่งออกผลไม้สู่ตลาดจีนในโครงการ Thai Fruits Golden Months การขายผ่าน TV Shopping 17.ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น THAIFEX-Anuga Asia และ GULF FOOD
18.จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทย เช่น Country Brand ส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมมะพร้าวไทย 19.จัดมหกรรมการค้าชายแดน 3 ภาค 20.มุ่งเจรจาผ่านคลายมาตรการทางการค้า ทั้งการลดภาษี ลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศคู่ค้า 21.ตั้งวอรูม คณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ไทย ภาครัฐร่วมกับเอกชน ติดตามสถานการณ์ ประสานงานแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ ผลักดันส่งออกไป 3 ตลาดศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และ CLMV และ 22.ให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ เวลา 08.00 น. หรือทันทีที่เปิดทำการรับซื้อ และกระทรวงพาณิชย์และจังหวัด ยังคงบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ให้เกษตรกรขายผลไม้ที่มีคุณภาพ ได้ราคาดี ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายชั่งตวงวัดโดยเคร่งครัด
“การประชุมวันนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรในจังหวัดแหล่งผลิตสำคัญได้เห็นด้วยกับมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2566 ทั้ง 22 มาตรการ ซึ่งครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญและตรงจุด ซึ่งเกษตรกรและภาคเอกชนยินดีให้ความร่วมมือกันขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว โดยมั่นใจว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการตลาดในประเทศและเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออก ทำให้ราคาผลไม้ให้ดีตลอดทั้งฤดูการผลิตนี้ โดยในปีนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายผลักดันการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อน 10%”นายจุรินทร์กล่าว
ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน ระบุว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ผลจากการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ส่งผลให้สามารถรักษาระดับราคาผลไม้ในประเทศ ผลักดันให้ปริมาณส่งออกผลไม้เพิ่มขึ้น และแก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาดได้ โดยราคาผลไม้ปี 2565 เกือบทุกชนิดสูงกว่าปีที่ผ่านมา เฉลี่ยสูงขึ้น 44% เช่น ทุเรียนเกรดส่งออก ราคาเฉลี่ย 142.50 บาท/กก. ลำไย ช่อส่งออก AA ราคาเฉลี่ย 35-45 บาท/กก. มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดส่งออก ราคาเฉลี่ย 45 บาท/กก. ลองกองเกรดคละ ราคาเฉลี่ย 26 บาท/กก.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุม นายพสิษฐ์ สุขสวัสดิ์ เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วง จ.ลำพูน เห็นว่า อมก๋อยโมเดลที่นำมาใช้ มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกษตรกรมีทางเลือก ไม่ถูกกดราคา และนายธนกฤต ตันวัฒนากูล นายกสมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือ ขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือให้โรงอบมีศักยภาพในการอบแห้ง ทำให้ราคาตลอดทั้งฤดูอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,200-1,400 บาท/ราย หรือคิดเป็นมูลค่า 1,440 ล้านบาท ส่วนนายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย ชื่นชมนายจุรินทร์ ที่ได้เดินทางไปตะวันออกกลาง เจรจาอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ในสามารถบรรลุข้อตกลงและนำมาขับเคลื่อนจนเป็นผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรวดเร็ว ทำให้การส่งออกผลไม้ไทยในปี 2565 ไปตะวันออกกลางและแอฟริกาขยายตัวขึ้น และนายไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวถึงมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาผลไม้ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก มีกำลังใจและมั่นใจว่ามีภาครัฐที่พร้อมจะดูแลแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด จึงขอให้คงมาตรการบริหารจัดการผลไม้ต่อไป