ช่วงนี้ชาวสวนผลไม้ในจังหวัดภาคตะวันออกกำลังเดือดร้อน หลังจากราคาผลผลิต “มังคุด” ที่ราคาตกจนไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ซึ่งล่าสุด ผอ.สวพ.6 ระบุสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่หากไม่ร่วมมือกันแก้ ปีหน้าปัญหาจะซ้ำรอย
นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 หรือ สวพ.6 กรมวิชาการเกษตร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก”ชลธี นุ่มหนู” โดยระบุว่า “สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มังคุดราคาตกต่ำในวันนี้ คือการส่งออกมังคุดไทยไปจีนปีนี้ย่ำแย่กว่าทุกปี ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายเพราะปีนี้มังคุดภาคตะวันออก มีผลผลิตทะลักออกมามาก เก็บเกี่ยวช่วงเดียวกับทุเรียน แถมต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านการขนส่ง ตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอ ความเข้มงวดในมาตรการป้องกันโควิดของจีน ผู้ประกอบการหลายรายไม่กล้าเสี่ยงทำมังคุดส่งออกปีนี้ จึงมีโรงคัดบรรจุมังคุดเปิดน้อยกว่าทุกปี “
“ปี 2564 ที่มังคุดมีผลผลิตน้อยเรายังส่งออกมังคุดไปจีนกว่า 140,000 ตัน แต่ถึงเวลานี้ยังส่งออกได้เพียง 54,000 ตันเท่านั้นเอง”
“ มังคุดราคาตกต่ำวันนี้ ผมไม่โทษใคร เพราะเข้าใจข้อจำกัดของผู้ประกอบการส่งออก เข้าใจการทำงานของส่วนราชการและเข้าใจความต้องการของชาวสวน แต่ทำอย่างไรจะให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันและร่วมกันฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคปีนี้และปีต่อๆไป ที่ต้องวนเวียนมาเจอกับเหตุการณ์แบบนี้อีก
“คุณภาพมังคุดช่วงนี้มีขนาดผลเล็กตกไซต์ เนื้อแก้วยางไหล ผลดำ ผลแตก ประมาณ 50 % จะระบายออกจากตลาดอย่างไร โรงงานแปรรูปที่จะรองรับยังไม่เกิดจริงจัง”
“ตู้คอนเทนเนอร์ที่จะใส่มังคุดส่งออกมีไม่พอ ตู้ต้องถูกแบ่งไปใส่ทุเรียนที่มีมูลค่าสูงกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ห้องเย็นที่จะเก็บรักษารอตู้มามีเพียงพอหรือไม่”
“สอบถามชาวสวนหลายคนว่าราคามังคุดถ้าเบอร์รวม ยืนอยู่ที่ 35 บาทพอรับได้ ถ้าต่ำกว่านี้อาจจะทำมังคุดนอกฤดูครั้งสุดท้าย คือ ตัดต้นขายไปปลูกทุเรียนแทน”
ผอ.ชลธี ยังระบุถึงปัญหาส่งออกทุเรียนก่อนหน้านี้ด้วยว่า “ตอนนี้ทางการจีนแจ้งมาแล้วว่าต่อไปนี้หากมีรายงานการตรวจพบโควิด-19 ในสินค้าจากรัฐบาลท้องถิ่นจะดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงโรงคัดบรรจุและสวนที่เป็นแหล่งผลิตทันที จึงเป็นที่มาของการขอตรวจโรงคัดบรรจุทุเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดจันทบุรีแบบด่วนที่สุด แทบไม่มีโอกาสตั้งตัว ถ้าAudit แล้วไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จะถูกระงับการส่งออกทันทีเช่นกัน”
“จึงอยากขอเตือนไปยังโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ส่งออกไปจีนว่าทางการจีนยังคงเข้มงวดในมาตราการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในผลผลิต บรรจุภัณฑ์และรถขนส่ง ดังนั้นโรงคัดบรรจุจะต้องคุมเข้มเช่นเดียวกัน และควรมีความพร้อมในการรับการตรวจสอบย้อนกลับตลอดเวลาด้วย หากโรงคัดบรรจุไม่เตรียมพร้อมต่อให้ทีมสวพ.6 กรมวิชาการเกษตร แข็งแกร่งอย่างไรก็ไม่อาจช่วยท่านได้”
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : FB ชลธี นุ่มหนู